รีเซต

เปิดรายงานอนามัยโลก ชี้แหล่งที่มาโควิด-19 แพร่จากค้างคาว ยันหลุดจากห้องทดลองเป็นไปได้ยาก!

เปิดรายงานอนามัยโลก ชี้แหล่งที่มาโควิด-19 แพร่จากค้างคาว ยันหลุดจากห้องทดลองเป็นไปได้ยาก!
มติชน
29 มีนาคม 2564 ( 19:03 )
59
เปิดรายงานอนามัยโลก ชี้แหล่งที่มาโควิด-19 แพร่จากค้างคาว ยันหลุดจากห้องทดลองเป็นไปได้ยาก!

สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานผลการสอบสวนของทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)ที่ถูกส่งเข้าไปสืบหาข้อเท็จจริงของต้นตอที่มาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงในเมืองอู่ฮั่นของจีนเมื่อเร็วๆนี้ ที่เอเอฟพีระบุว่าได้รับสำเนารายงานดังกล่าวมาในวันจันทร์(29 มี.ค.)นี้ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ระบุว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้สรุปว่า “มีความเป็นไปได้ถึงเป็นไปได้อย่างมาก” ในข้อสมมติฐานที่ว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ ไวรัสโควิด-19 นั้น แพร่เชื้อครั้งแรกจากค้างคาวสู่มนุษย์ โดยผ่านสัตว์ชนิดอื่นที่เป็น “สื่อกลาง”

 

 

ขณะที่สมมติฐานในทฤษฎีที่ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หลุดเล็ดรอดออกมาจากห้องทดลองนั้น “เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง”

 

 

รายงานสืบหาข้อเท็จจริงถึงต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อวิกฤตสาธารณสุขโลกซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกรวมกันไปแล้วมากกว่า 2.79 ล้านรายและทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมกันแล้วมากกว่า 127.8 ล้านคน เป็นรายงานที่โลกต่างรอคอยและคาดหวังหลังจากทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติจากองค์การอนามัยโลกได้เดินทางออกจากจีนเมื่อกว่าหนึ่งเดือนก่อน หลังเข้าไปสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงเมืองอู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ย์ ที่เชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

 

โดยการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ที่ทีมงานผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกและทีมงานผู้เชี่ยวชาญของจีนเป็นผู้ร่วมร่างขึ้นนั้น ออกมาล่าช้า ถูกกล่าวโทษว่าเป็นเพราะประเด็นการประสานความร่วมมือและการแปลความร่วมกัน ที่ถูกมองว่าเป็นการยื้อกันไปมาทางการทูตเกี่ยวกับเนื้อหาที่อยู่ในรายงาน อย่างไรก็ดีในระหว่างการแถลงข่าวที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันยุติภารกิจ ทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความชัดเจนว่าพวกเขายังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่แน่นอนได้ แต่ก็สามารถจัดทำลำดับความเป็นไปได้ของการเกิดการแพร่ระบาดขึ้นได้

 

 

โดยรายงานของทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลกที่ร่างร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญของจีน ซึ่งเอเอฟพีอ้างว่าได้รับสำเนารายงานฉบับนี้มาระบุว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว หนึ่งทฤษฎีที่มีการสอบสวนคือ ไวรัสได้แพร่เชื้อมาจากค้างคาวสู่มนุษย์โดยตรง ซึ่งในข้อสรุปของรายงานนี้้ชี้ว่า สมมติฐานในประเด็นนี้จัดอยู่ในระดับ “เป็นไปได้จนถึงมีแนวโน้มที่จะเป็นได้”

 

 

อีกสมมติฐานหนึ่งที่ว่า เชื้อไวรัสได้แพร่จากค้างคาวมาสู่สัตว์อื่น ที่เป็นสื่อกลางก่อน แล้วติดต่อสู่มนุษย์ รายงานชี้ว่า แม้ว่าไวรัสที่มีความใกล้เคียงที่สุดซึ่งพบในค้างคาวนั้น ด้วยระยะห่างของวิวัฒนการระหว่างไวรัสที่พบในค้างคาวกับไวรัส SARS-CoV-2 ถูกประเมินว่าต้องใช้เวลาเป็นหลายทศวรรษ ทำให้ต้องมีตัวกลางของการระบาดที่ยังไม่พบหรือ “missing link” อยู่ อย่างไรก็ดีสมติฐานนี้ “มีความเป็นไปได้ถึงเป็นไปได้มาก” แม้ว่ารายงานจะไม่ได้สรุปว่าสัตว์ที่เป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์คือสัตว์อะไรก็ตาม

 

 

ขณะที่รายงานไม่ได้ตัดประเด็นเรื่องการแพร่เชื้อผ่านอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่จีนสนับสนุนมากที่สุดเนื่องจากไวรัสสามารถอยู่รอดได้ในระดับอุณหภูมิแช่แข็ง โดยระบุว่าการแพร่เชื้อผ่านห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งยังคง “ถือว่าเป็นไปได้”

 

 

สุดท้ายรายงานดังกล่าวได้ตรวจสอบแนวความคิดเรื่องการแพร่ระบาดมาจากการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการเช่น ห้องปฏิบัติของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งเป็นทฤษฎีที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาเสนอไว้ โดยระบุว่ายังไม่มีบันทึกที่แสดงว่ามีเชื้อไวรัสคล้ายคลึงกับเชื้อ SARS-CoV-2 ในห้องปฏิบัติการใดๆก่อนหน้าเดือนธันวาคมปี 2019 มาก่อน พร้อมย้ำว่าห้องปฏิบัติการที่อู่ฮั่นมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง “การแพร่เชื้อจากห้องปฏิบัติการถือว่าเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง”

 

 

ล่าสุดนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวในที่ประชุมทางไกลจากนครเจนีวาว่า สมมติฐานทั้งหมดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเปิดกว้างและจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษากันต่อไป หลังจากตนได้อ่านรายงานการสอบสวนหาที่มาของเชื้อไวรัสนี้แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง