สู้วิกฤต!! ฝุ่นพิษ PM2.5 รบ.ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเข้าสภาฯ
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป้นปัญหาระดับภูมิภาคที่ส่งผลกระทบทั้งในมิติสุขภาพ และเสรษฐกิจ ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ต้องบัญชาการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ล่าสุด นำคณะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เผชิญปัญหาฝุ่นควันต่อเนื่องมาหลายปีและติดอันดับต้นๆของโลก โดยกำชับให้เพิ่มแนวทางลดจุดความร้อน หรือ Hot Spot จากการลดพื้นที่เผาไหม้ลงให้ได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง นายกรัฐมนตรีของไทยได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
"เมื่อคืนวันที่ 11 มกราคม ผมโทรศัพท์ตอน 4 ทุ่มกว่า คุยกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และตั้งคณะทำงานกันขึ้นมาร่วมกัน 2 ประเทศ และฮอตไลน์คุยกันได้ตลอด เพราะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็ตระหนักในปัญหานี้ ซึ่งปัญหาของเราก็ขึ้นกับทิศทางลมด้วย ถ้าเราเผาอาจไปทางเขา เขาเผาอาจมาทางเรา อันนี้ต้องเป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ก็ดีใจที่ผู้นำของกัมพูชาได้ให้ความสำคัญและพูดคุยกัน"
สำหรับคณะทำงานดังกล่าว จะมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการวัดค่าฮอตสปอตและรายงานเบาะแสพื้นที่ที่มีจุดความร้อน โดยเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ฟ้าใส หรือ Clear Sky Strategy ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน 3 ประเทศ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก GISTDA พบว่า จุดความร้อน ช่วงวันที่ 1-11 ม.ค. 2567 มีจำนวน 686 จุด ลดลงร้อยละ 5.89 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 729 จุด โดยปรับลดลงทุกประเภทพื้นที่ แยกเป็นเขต สปภ. 151 จุด จากปีก่อน 120 จุด ชุมชนและอื่น ๆ 64 จุด จากปีก่อน 43 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 154 จุด จากปีก่อน 204 จุด ป่าอนุรักษ์ 26 จุด จากปีก่อน 47 จุด พื้นที่เกษตร 284 จุด จากปีก่อน 307 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด จากปีก่อน 8 จุด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานผลการดำเนินการแนวทางสกัดไฟป่าว่า ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) 400 วอร์รูมในพื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหา PM 2.5 สูงสุด 9.87 ล้านไร่ จากปัญหาการเผาไหม้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2566 รวม 12.78 ล้านไร่
ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายจะลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566 ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 73 ล้านไร่ พร้อมทั้งจัดชุดเฝ้าระวังไฟป่า 17 จังหวัด อีก 2,500 จุด มีเจ้าหน้าที่พร้อมดับไฟป่าตลอด 24 ชม. โดยจ้างราษฎรในพื้นที่ 5,260 คน เงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท เพื่อช่วยดูแลพื้นที่เสี่ยงไฟป่า
ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่การแก้ปัญหาที่ผ่านมายังถูกมองว่าอยู่ภายใต้กฎหมายล้าสมัย จึงไม่ช่วยให้ปัญหา PM2.5 ทุเลาลง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการขับเคลื่อนให้เกิดร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งขณะนี้มีร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสภามากถึง 7 ฉบับประกอบด้วย
ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน โดยเครือข่ายอากาศสะอาด หรือร่างฉบับประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ หรือร่างฉบับเพื่อไทย
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ พรรคภูมิใจไทย
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือร่างฉบับรัฐบาล
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ พรรคพลังประชารัฐ
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. โดย วทันยา บุนนาค และคณะ พรรคประชาธิปัตย์
ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ พรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตามแม้ว่า ร่างกฎหมายจะเพิ่งเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 หรือวาระรับหลักการ ซึ่งต้องรอการอภิปรายและลงมติในสัปดาห์หน้า แต่การขับเคลื่อนครั้งนี้ ก็เป็นไปในทิศทางบวก แม้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีกฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศออกมาบังคับใช้ได้จริง และไม่ว่า ร่างกฎหมายอากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แต่ทุกฉบับต่างมีเป้าหมายเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นควันในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน
เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร