จากใบไม้แห้งสู่ปุ๋ยอินทรีย์ “ป่าปลอดเผา” โดยเครือซีพี เปลี่ยนภาระเป็นรายได้ ลดฝุ่นควันอย่างยั่งยืน

จากใบไม้แห้งสู่ปุ๋ยอินทรีย์ “ป่าปลอดเผา” โดยเครือซีพี เปลี่ยนภาระเป็นรายได้ ลดฝุ่นควันอย่างยั่งยืน
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เดินหน้าขยายโครงการ "ป่าปลอดเผา" สู่เฟสที่ 2 ครอบคลุม 10 ป่าชุมชนในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หลังสองปีที่ผ่านมา โครงการนำร่องสามารถลดการเผา ลดฝุ่น PM2.5 และสร้างรายได้จากใบไม้แห้งให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยั่งยืน”
เครือซีพีสานต่อนโยบายด้านความยั่งยืน ขยายผลโครงการ "ป่าปลอดเผา" เฟส 2 มุ่งบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนืออย่างบูรณาการ โดยผนึกกำลังภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) และประชาชนในพื้นที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
โครงการ “ป่าปลอดเผา” มุ่งลดไฟป่า ฝุ่นพิษ PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการส่งเสริมให้ชุมชนแปรรูปใบไม้แห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าจากทรัพยากรในท้องถิ่น พร้อมทั้งกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการดูแลป่าชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในเฟสแรก เมื่อปี 2566 นำร่องใน 6 ป่าชุมชนชายแดนไทย-เมียนมา ของอำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่ ได้แก่ บ้านสามปู, บ้านมหาธาตุ, บ้านแม่หาด, บ้านปางป๋อ, บ้านป่าไผ่ และบ้านห้วยหก ผลลัพธ์ที่ผ่านมาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 102.97 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับการเผาเศษใบไม้ และแปรรูปใบไม้แห้งได้กว่า 84 ตัน ซึ่งไม่เพียงลดจุดความร้อน และการเกิดหมอกควันไฟป่า แต่ยังสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า “โครงการป่าปลอดเผา เป็นกลไกสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ Net Zero 2030 จากนโยบายของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเชื่อว่าการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากฐานรากของชุมชน โดยเฉพาะการจัดการใบไม้แห้งอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการลดเชื้อเพลิง ลดไฟป่า หมอกควัน และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 และเดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050 รวมถึงเป้าหมายการลดของเสียจากการฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โครงการนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า หากมีการบริหารจัดการอย่างมีแบบแผนและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ‘ป่าปลอดเผา’ จะสามารถต่อยอดเป็นโมเดลการจัดการหมอกควันไฟป่าที่ใช้ได้จริงในระดับประเทศ และเป็นแนวทางสำคัญในการพลิกฟื้นป่า สร้างอากาศดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ทั้งนี้ “โครงการป่าปลอดเผา” ยังต่อยอดศึกษางานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในหัวข้อ “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองจากเศษใบไม้ในป่าชุมชนพื้นที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่” เพื่อประเมินความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ โดยใช้วิธีการคำนวณตามวิธีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 102.97 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับการเผาเศษใบไม้ จนได้รับรางวัลบทความยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นเลิศสำหรับชุมชน ในงานประชุมสัมมนาวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนเพื่อชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 (TREC-17) ที่ผ่านมา
เสียงจากชุมชนสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นายเอกรินทร์ พูนนุ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่หาด กล่าวว่า "ปกติชุมชนมีการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าโดยร่วมมือกับภาครัฐอยู่แล้ว แต่เมื่อโครงการป่าปลอดเผาเข้ามา ก็ทำให้ได้รับแนวทางการจัดการที่เข้มแข็งและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยการนำเศษใบไม้แห้งมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการเผา แต่ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน และลดต้นทุนในการทำการเกษตร อีกทั้งยังช่วยดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนของเราให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความรักและความสามัคคีของชุมชนในการร่วมมือกันดูแลผืนป่าซึ่งเป็นบ้านของเรามากยิ่งขึ้นอีกด้วย"
นางอิ่นแก้ว เมธา ผู้ใหญ่บ้านเวียงแหง เสริมว่า “โครงการ 'ป่าปลอดเผา' เป็นโอกาสที่ดีที่ชุมชนของเราจะได้ร่วมมือกันดูแลและปกป้องผืนป่าอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดลการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต ป่าชุมชนจะกลับมาอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเราจะสามารถส่งต่อสภาพแวดล้อมที่ดีนี้ไปยังลูกหลานของเราได้ โครงการฯ นี้จึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับชุมชนของเราอย่างแน่นอน”
ในปี 2568 เครือซีพีขยายผลสู่เฟสที่ 2 ครอบคลุม 10 ป่าชุมชน พื้นที่รวมกว่า 3,600 ไร่ ในอำเภอเวียงแหง โดยยังคงเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผสานองค์ความรู้ เทคโนโลยี และงบประมาณจากภาคเอกชน นอกจากนี้โครงการป่าปลอดเผา ยังได้ขยายผลไปยังพื้นที่อำเภออมก๋อยอีก 3 ป่าชุมชน ได้แก่ บ้านหลิม บ้านดง และบ้านโป่งอีกด้วย
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เครือซีพีได้มุ่งมั่นต่อยอดโครงการ “ป่าปลอดเผา” ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตอบโจทย์ Net Zero, Zero Waste และการลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อปกป้องผืนป่า สร้างอากาศดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ทั้งนี้ ยังมีแผนบูรณาการการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากใบไม้สู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ลดคาร์บอน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ต่อไป