กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จับภาพการก่อตัวของดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่ม
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาภาพถ่ายกาแล็กซีเมฆแมกเจลเลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่เผยให้เห็นการก่อตัวของดาวฤกษ์กว่า 33,000 ดวง
กาแล็กซีเมฆแมกเจลเลนเล็ก (Small Magellanic Cloud)
สำหรับกาแล็กซีเมฆแมกเจลเลนเล็กนั้น เป็นกาแล็กซีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milkyway Galaxy) ของเรามากที่สุด โดยอยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 220,000 ปีแสง มันเป็นกาแล็กซีที่ไม่มีโลหะที่หนักกว่าไฮโดรเจน (Hydrogen) และฮีเลียม (Helium) อยู่ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้มันได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์มาอย่างยาวนาน เพื่อศึกษาว่ามันเป็นอย่างไรในช่วงยุคแรกเริ่มของจักรวาล
ต้องมองหาฝุ่นคอสมิก (Cosmic dust) !
ส่วนวิธีที่นักดาราศาสตร์มักใช้มองหาดาวฤกษ์เกิดใหม่ก็คือ การสังเกตกลุ่มก้อนของฝุ่นคอสมิก (Cosmic dust) ซึ่งเป็นฝุ่นในอวกาศที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ โดยนักดาราศาสตร์ได้นำภาพถ่ายดังกล่าวจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เข้าโปรแกรมทางดาราศาสตร์ที่ช่วยระบุจำนวนของดาว ซึ่งถูกบดบังด้วยฝุ่นคอสมิก
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์พยายามใช้กล้องโทรทรรศน์หลายตัวในการศึกษากาแล็กซีเมฆแมกเจลเลน รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์สามารถทำงานได้ดีกว่าในการถ่ายภาพดาวฤกษ์เกิดใหม่ เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์มีอุปกรณ์ตรวจจับรังสีอินฟราเรดช่วงใกล้ (NIRCam) ซึ่งไวต่อฝุ่นคอสมิก เนื่องจากฝุ่นคอสมิกมีคุณสมบัติในการดูดซับแสงรอบ ๆ และสะท้อนออกมาในช่วงคลื่นอินฟราเรด
โดยการศึกษาดาวฤกษ์เกิดใหม่ในกาแล็กซีเมฆแมกเจลเลนจะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถทำความเข้าใจยุคคอสมิกนูน (Cosmic noon) หรือยุคแรกเริ่มของจักรวาล เมื่อ 10,000 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคหนึ่งของจักรวาลที่มีอัตราการเกิดของดาวฤกษ์สูง
ข้อมูลและภาพจาก Cornell University