รีเซต

“การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” เกิดขึ้นกับยีนมนุษย์ปัจจุบันเกือบ 800 ตัว ตลอดช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา

“การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” เกิดขึ้นกับยีนมนุษย์ปัจจุบันเกือบ 800 ตัว ตลอดช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา
ข่าวสด
27 พฤศจิกายน 2564 ( 22:20 )
141
“การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” เกิดขึ้นกับยีนมนุษย์ปัจจุบันเกือบ 800 ตัว ตลอดช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา

 

ข้อถกเถียงที่มีมานานเรื่องหนึ่งในแวดวงผู้ศึกษาพันธุกรรมมนุษย์นั้น ได้แก่คำถามที่ว่า ผู้คนยุคปัจจุบันยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งคัดสรรลักษณะทางพันธุกรรมที่มีประโยชน์ให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกหลาน หรือที่เรียกว่า "การคัดเลือกโดยธรรมชาติ" (natural selection) อยู่อีกหรือไม่

 

นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า อิทธิพลของการคัดเลือกโดยธรรมชาติต่อพันธุกรรมของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ได้เสื่อมถอยและลดน้อยลงไปมากแล้ว เนื่องจากการใช้สติปัญญาดัดแปลงสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทำให้ความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ไม่ขึ้นอยู่กับการคัดสรรทางพันธุกรรมอีกต่อไป

 

Getty Images

 

แต่ล่าสุดทีมผู้เชี่ยวชาญทางพันธุศาสตร์ จิตวิทยา และวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทงของจีน ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาใหม่ลงในวารสาร Nature Human Behavior ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2021 โดยระบุว่ากระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ยังคงทำงานอย่างแข็งขันในหน่วยพันธุกรรมหรือยีนอย่างน้อย 775 ตัวของมนุษย์ ตลอดช่วงระยะเวลา 2,000 - 3,000 ปีที่ผ่านมา

 

ทีมผู้วิจัยวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลพันธุกรรมของชาวยุโรปในปัจจุบัน 500,000 คน กับข้อมูลพันธุกรรมของมนุษย์โบราณยุคต่าง ๆ 512 คน ตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ปีที่แล้ว ไปจนถึงช่วงก่อนยุคหินใหม่เมื่อราว 100,000 ปีที่แล้ว โดยใช้วิธีศึกษาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องของหน่วยพันธุกรรมทั้งจีโนม (GWAS) เพื่อมองหาลำดับพันธุกรรม (DNA sequence) ที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งกว่าเพื่อน

 

หากลำดับพันธุกรรมซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะที่ได้รับการถ่ายทอดมาของมนุษย์ เช่น สีผิว ความสูง สติปัญญา ปรากฏให้เห็นซ้ำบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ ในจีโนมของมนุษย์ยุคหลัง นั่นแสดงว่ายีนที่กำหนดลักษณะดังกล่าวอยู่ภายใต้ "อิทธิพลทางบวก" ของกระบวนการคัดสรร หรือหมายความว่าเป็นยีนที่ได้รับคัดเลือกโดยธรรมชาตินั่นเอง

 

Getty Images
ลำดับพันธุกรรมที่ปรากฏซ้ำบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ ในคนรุ่นหลัง อาจเป็นยีนที่ได้รับคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ยีนของมนุษย์หลายร้อยตัวที่ทีมผู้วิจัยพบว่า ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้น รวมไปถึงยีนกำหนดสีผิวที่มีแนวโน้มทำให้คนเชื้อสายยุโรปผิวขาวยิ่งขึ้น ยีนของการมีระดับสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) สูง รวมทั้งยีนที่กำหนดขนาดและสัดส่วนของอวัยวะต่าง ๆ

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าประหลาดใจว่ามียีนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเชื่อมโยงกับโรคภัยไข้เจ็บ อย่างเช่นมะเร็งผิวหนัง, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD), โรคจิตเภท, สมาธิสั้น (ADHD) และโรคคลั่งผอมอะนอเร็กเซีย กลับเป็นยีนที่ได้รับการคัดเลือกโดยธรรมชาติเสียอย่างนั้น

 

"อาจเป็นไปได้ว่า โรคภัยเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงที่ไม่ได้ตั้งใจของการคัดเลือกยีนอีกตัวหนึ่งเอาไว้ เช่นการเลือกถ่ายทอดยีนที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในลำไส้มีความไวสูง อาจเป็นประโยชน์ในยุคโบราณที่สุขอนามัยยังไม่ดีนัก แต่มันกลับทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในคนยุคใหม่" ศาสตราจารย์ กวน หนิน หลิง หนึ่งในสมาชิกของทีมผู้วิจัยกล่าวอธิบาย

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญบางส่วนได้แสดงความเห็นต่องานวิจัยนี้ว่า วิธีศึกษาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องของหน่วยพันธุกรรมทั้งจีโนม (GWAS) ที่ทีมผู้วิจัยเลือกใช้นั้นอาจมีปัญหา เพราะไม่อาจแยกแยะได้ว่ายีนที่พบบ่อยจนดูเหมือนว่าได้รับการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้น เป็นยีนที่กำหนดลักษณะดังกล่าวโดยตรงจริงหรือไม่ ซึ่งเคยมีกรณีที่นักวิจัยสรุปผลการศึกษาผิด ทำให้เรื่องของความสูงหรือทักษะการใช้ตะเกียบที่กำหนดโดยปัจจัยแวดล้อม กลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าถูกกำหนดโดยยีนไป

.............

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง