รู้หรือไม่ ? คนตาสีฟ้าทุกคนบนโลก มาจากยีนส์ "กลายพันธุ์" ของมนุษย์เพียงคนเดียวเท่านั้น
ตามข้อมูลของเวรี่เวลล์ เฮลธ์ (Very Health) เว็บไซต์ด้านสุขภาพสัญชาติสหรัฐฯ ระบุว่า คนตาสีฟ้าบนโลกมี 8 - 10% ของประชากรทั้งหมดบนโลก หรือประมาณ 800 ล้านคน แต่รู้หรือไม่ว่า ตาสีฟ้าเกิดมาจากการกลายพันธุ์ และนักวิทยาศาสตร์พบว่า คนตาสีฟ้าทุกคนบนโลกสืบเชื้อสายมาจากยีนส์กลายพันธุ์ของมนุษย์เพียงคนเดียวเท่านั้น เป็นชาวยุโรปที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 6,000 - 10,000 ปีก่อน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นผู้ค้นพบทฤษฎีข้อนี้และตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารฮิวแมน เจเนติกส์ (Human Genetics) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2008 ศาสตราจารย์ ฮานส์ ไอเบิร์ก (Hans Eiberg) จากภาควิชาเวชศาสตร์เซลล์และโมเลกุล ผู้เขียนหลักของการศึกษานี้อธิบาย ว่ามนุษย์มียีนส์ชื่อ OCA2 ซึ่งรับผิดชอบการสร้างเม็ดสีน้ำตาลในดวงตาของมนุษย์ ดังนั้นแล้วเดิมทีมนุษย์ทุกคนมีดวงตาสีน้ำตาล แต่แล้วก็ได้เกิดการกลายพันธุ์ในยีนส์ เรียกยีนส์นี้ว่า HERC2 ซึ่งยีนส์ที่กลายพันธุ์นี้จะไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีน้ำตาลในดวงตา จนสีดวงตาจางลงและกลายเป็นสีฟ้า
ทีมนักวิจัยได้ศึกษา DNA ของไมโตคอนเดรีย (อวัยวะขนาดเล็กของเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตพลังงานและมี DNA เป็นของตัวเอง) ของคนตาสีฟ้าในหลายประเทศ คือ จอร์แดน เดนมาร์ก และตุรกี ผลคือพบว่าการกลายพันธุ์ของคนตาสีฟ้าทั้งหมดนั้นมีลักษณะการกลายพันธุ์แบบเดียวกันทุกประการและการกลายพันธุ์อยู่ในตำแหน่งเดียวกันด้วย ทั้งนี้ DNA ของมนุษย์นั้นยาวมาก มีตำแหน่งที่ไม่ซ้ำกันมากกว่า 3 พันล้านตำแหน่ง ดังนั้นหากไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากยีนส์กลายพันธุ์จากบรรพบุรุษคนเดียวกัน มันจะเป็นไปได้ยากมากที่การกลายพันธุ์จะเกิดอยู่ตำแหน่งเดียวกัน
ไม่เพียงลักษณะการกลายพันธุ์และตำแหน่งเกิดการพันธุ์ใน DNA แบบเดียวกันเท่านั้น อีกหลักฐานคือ DNA ที่อยู่รอบการกลายพันธุ์ เรียกว่า ฮาโพลไทป์ (Haplotypes) หากสืบเชื้อสายการกลายพันธุ์มาจากยีนส์ของบรรพบุรุษที่แตกต่างกัน มันต้องมีความแตกต่างกัน แต่ในการศึกษา พบว่าคนตาสีฟ้าทุกคนมี DNA ที่อยู่รอบการกลายพันธุ์แบบเดียวกันทั้งหมด
ดังนั้นหลักฐานเหล่านี้จึงชี้ว่าคนตาสีฟ้าทุกคนบนโลก สืบเชื้อสายมาจากยีนส์กลายพันธุ์ของมนุษย์เพียงคนเดียวเท่านั้น เป็นชาวยุโรปที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 6,000 - 10,000 ปีที่แล้ว อาศัยอยู่บริเวณทะเลดำของยุโรป (ทะเลที่อยู่ระหว่างทวีปยุโรป (ด้านตะวันออกเฉียงใต้) เอเชียไมเนอร์ และดินแดนคอเคซัส) นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงพบคนตาสีฟ้าบริเวณยุโรปเหนือและรัสเซียเยอะมาก
แต่ทั้งนี้สีของดวงตาอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากเมื่อแรกเกิดเม็ดสีของดวงตามนุษย์ยังไม่โตเต็มที่ ดังนั้นในบางกรณี ในวัยเด็กอาจจะมีดวงตาสีฟ้า แต่เมื่อโตขึ้น มีการผลิตเม็ดสีเมลานินสีน้ำตาลมากขึ้น สีของดวงตาก็จะเปลี่ยนแปลงไป
ที่มาข้อมูล Independent, Sciencedaily, TheTech
ที่มารูปภาพ Pixabay