นักวิทย์จีนพบ 'ยีน' เพิ่มผลผลิตเมล็ดข้าวโพด-ข้าว
ปักกิ่ง, 25 มี.ค. (ซินหัว) -- มนุษย์เริ่มเพาะปลูกธัญพืชเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นอาหารเมื่อราว 10,000 ปีก่อน และผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับประชากรจำนวนมากขึ้น โดยปัจจุบันผลการวิจัยของจีนได้เปิดเผยพื้นฐานทางพันธุกรรมของที่จะช่วยเรื่องการเพิ่มผลผลิตในข้าวโพดและข้าว ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของมนุษย์
คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรจีน (CAU) และมหาวิทยาลัยเกษตรหัวจง ค้นพบว่ายีนที่ชื่อว่าเคอาร์เอ็น2 (KRN2) ในข้าวโพดที่มนุษย์เพาะปลูกและในหญ้าทิโอซินเท (Teosinte) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษทางธรรมชาติของข้าวโพดนั้นมีความแตกต่างกัน
ผลการวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (25 มี.ค.) ระบุว่ายีนดังกล่าวสร้างขีดจำกัดของจำนวนแถวเมล็ดข้าวโพด แต่การคัดเลือกของมนุษย์จะสามารถยับยั้งการแสดงออกของมันและเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นได้ผ่านการเพิ่มแถวเมล็ด
หลังจากนั้นคณะนักวิจัยพบว่ายีนในข้าวที่เรียกว่าออสเคอาร์เอน2 (OsKRN2) ก็แสดงวิถีทางที่คล้ายคลึงกัน
การทดสอบภาคสนามแสดงให้เห็นว่าการยับยั้งการแสดงออกของยีนทั้งสองนี้ในข้าวโพดและข้าว ทำให้ผลผลิตเมล็ดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 8 ตามลำดับ โดยที่ไม่ต้องแลกมาด้วยลักษณะทางการเกษตรอื่นๆ ที่เห็นที่ได้ชัด
หลี่เจี้ยนเซิง ผู้เขียนร่วมของงานวิจัยข้างต้นและศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์พืชจากมหาวิทยาลัยเกษตรจีน กล่าวว่าการค้นพบยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตครั้งนี้ได้วางรากฐานสำหรับการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น รวมถึงงานปกป้องความปลอดภัยทางอาหารของประเทศ