รีเซต

ศัลยแพทย์อินเดีย เตรียมปลูกถ่าย "มดลูก" ให้แก่หญิงข้ามเพศเป็นครั้งแรก !!

ศัลยแพทย์อินเดีย เตรียมปลูกถ่าย "มดลูก" ให้แก่หญิงข้ามเพศเป็นครั้งแรก !!
TNN ช่อง16
11 พฤษภาคม 2565 ( 22:10 )
225

เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อหญิงและชายข้ามเพศมีพัฒนาการเรื่อยมา ล่าสุด ศัลยแพทย์ชาวอินเดียวางแผนที่จะทำการผ่าตัดปลูกถ่าย "มดลูก" ให้แก่ผู้หญิงข้ามเพศ และหวังว่าผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายจะสามารถตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป


ที่มาของภาพ iHeart

 


นเรนทรา เคาชิก (Narendra Kaushik) ผู้ก่อตั้งสถาบันการผ่าตัดแปลงเพศโอลเมก (Olmec Transgender Surgery Institute) เชื่อว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกไปยังหญิงข้ามเพศจะสามารถทำได้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของหญิงข้ามเพศ โดยจากการสำรวจพบว่า หญิงข้ามเพศกว่า 90% คิดว่าการมีมดลูกเช่นเดียวกับผู้หญิงจริง ๆ จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ให้พวกเธอกลายเป็นผู้หญิงได้อย่างครบสมบูรณ์


ทั้งนี้ การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกไม่ใช่เทคโนโลยีแปลกใหม่แต่อย่างใด ในครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2014 เคยมีการปลูกถ่ายมดลูกให้แก่ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง ซึ่งมีภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีมดลูกเช่นเดียวกับหญิงทั่วไป หลังจากการปลูกถ่ายแล้วเธอสามารถตั้งครรภ์จนให้กำเนิดบุตรได้ตามปกติ ส่วนในครั้งที่ 2 ทำขึ้นในปี ค.ศ. 2018 ในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะเช่นเดียวกันนั่นเอง


ที่มาของภาพ El Cos Huma

 


ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกในหญิงข้ามเพศครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1931 เป็นการปลูกถ่ายมดลูกในร่างกายของ ลิลี่ เอลบ์ จิตรกรหญิงข้ามเพศชาวเดนมาร์ก แต่หลังการผ่าตัดกลับพบภาวะติดเชื้อและสุดท้ายเธอได้เสียชีวิตหลังจากนั้นในอีก 3 เดือนถัดมา


สำหรับช่องคลอดและมดลูกที่จะนำมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเป็นอวัยวะที่ได้จากการบริจาคร่างกายของผู้เสียชีวิต เพราะคงไม่มีผู้ที่มีชีวิตอยู่จะยอมบริจาคอวัยวะสืบพันธุ์ของตนเองให้กับบุคคลอื่น และการใช้อวัยวะจากผู้เสียชีวิตจะสามารทำการผ่าตัดได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้บริจาค


ที่มาของภาพ BJOG

 


อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์มอนทรีออลด้านจริยธรรมการปลูกถ่ายมดลูก ไม่อนุญาตให้แพทย์ทำการปลูกถ่ายมดลูกในหญิงข้ามเพศ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหลายประการ ดังนี้


1. ความเหมาะสมของหลอดเลือดที่เข้ามาหล่อเลี้ยงมดลูกปลูกถ่ายในหญิงข้ามเพศ


2. การใช้ฮอร์โมนเพื่อคงคุณสมบัติในการตั้งครรภ์ของมดลูก


3 ความเหมาะสมของอุ้งเชิงกรานในร่างกายของหญิงข้ามเพศ (เนื่องจากโครงสร้างทางสรีรวิทยาของอุ้งเชิงกรานในหญิงและชายมีความแตกต่างกัน)


นอกจากนี้ การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกในหญิงข้ามเพศยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ มารองรับความเป็นไปได้ในการทำหัตถการ ดังนั้น การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกตามแผนของสถาบันการผ่าตัดแปลงเพศโอลเมกอาจไม่เหมาะที่จะกระทำ ณ เวลานี้


ที่มาของภาพ Iflscience

 


นเรนทรา เคาชิก มิได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นของหลักเกณฑ์มอนทรีออล หากแต่เขายังเชื่อว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายนี้ "มีความเป็นไปได้" อีกทั้งหากการปลูกถ่ายสำเร็จลุล่วง หญิงข้ามเพศอาจจะสามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว แล้วฝังเซลล์ตัวอ่อนลงไปยังผนังมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาตินั่นเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Iflscience

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง