รีเซต

‘ป้าบัวผัน’ เอฟเฟ็กต์ ถอดบทเรียน ‘คนไร้บ้าน-แต่ไม่ไร้ค่า’ ทวงความยุติธรรม ‘ต้นธาร’ การสอบสวน

‘ป้าบัวผัน’ เอฟเฟ็กต์ ถอดบทเรียน ‘คนไร้บ้าน-แต่ไม่ไร้ค่า’ ทวงความยุติธรรม ‘ต้นธาร’ การสอบสวน
TNN ช่อง16
22 มกราคม 2567 ( 15:38 )
113
1
‘ป้าบัวผัน’ เอฟเฟ็กต์ ถอดบทเรียน ‘คนไร้บ้าน-แต่ไม่ไร้ค่า’ ทวงความยุติธรรม ‘ต้นธาร’ การสอบสวน

‘สะท้อนสังคม สะเทือนความรู้สึกผู้คน’  


ประโยคนี้เหมาะสมที่สุดกับคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน ที่นอกจากจะเป็นคดีที่หลายคนพูดถึงกระบวนการสอบสวน ลามไปจนถึงการแก้กฎหมายเด็กและเยาวชน แล้ว คดีนี้ยังกลายเป็น ‘คดีตัวอย่าง’ ที่สะเทือนใจคนในสังคม เมื่อแก่นของคดีนี้คือ  ‘คนไร้บ้าน’ ถูกรังแก และ ‘เยาวชน’ คือ ‘ผู้ก่อเหตุ’ 



‘ศพ’ คนไร้บ้าน ฟ้องสังคม 


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา "คดีป้าบัวผัน" ที่ถูกพบเป็นศพถูกทิ้งสระน้ำในจังหวัดสระแก้ว กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่คนไทยกำลังจับตามอง หลังพบหลักฐานว่าเยาวชนอายุ 13-16 ปี เป็นผู้ก่อเหตุ 


ประเด็นที่มีการพูดถึงกันในสังคมออนไลน์ คือการแก้ไขให้กฎหมายเยาวชนมีบทลงโทษที่หนักแบบเดียวกับผู้ใหญ่ จนส่งผลให้  แฮชแท็ก #ป้าบัวผัน ติดเทรนด์ X เป็นอันดับ 1 อยู่หลายวัน 


การเสียชีวิตของป้าบัวผัน กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ ที่สะเทือนทั้งระบบองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่ถูกพุ่งเป้าเต็มๆ กับความไม่โปร่งใสในชั้นสอบสวน จนนำไปสู่การจับตาของสังคม และสื่อมวลชน 


‘คดีป้าบัวผัน’ ต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญอีกหนึ่งคดี ที่ถึงแม้จะเป็นคนสติไม่สมประกอบ เป็นคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มเปาะบาง ที่มักถูกรังแก แต่หากสังคมไม่นิ่งเฉยต่อความไม่ปกติที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถเรียกร้อง ต่อสู้ ทวงความยุติธรรม ให้พวกเขาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ ‘คนไร้บ้าน’ ต้องตายอย่าง ‘ไร้ค่า’


โดยล่าสุด เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ (20 ม.ค.67) ‘ร่าง’ ของป้าบัวผัน ถูกฌาปนกิจ ที่สำนักสงฆ์วัดหนองน้ำใส โดยมีครอบครัวพี่สาวและญาติ เดินทางมาจากต่างจังหวัด รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่เดินทางมาร่วมงานศพจำนวนมาก 



ลุงเปี๊ยก เกือบเป็น ‘แพะ’ ?


ช่วงแรกตำรวจจับ นายปัญญา หรือลุงเปี๊ยก สามีของป้าบัวผัน ซึ่งขณะนั้นขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับก่อนจะนำตัวนายปัญญาฝากขังที่ศาลจังหวัดสระแก้ว แต่หลังจากฝากขังได้ไม่นาน ปรากฏว่าตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ทราบว่ามีการจับแพะจึงขอหมายปล่อยตัวลุงเปี๊ยก


ซึ่งต่อมาได้มีการพบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดหลายจุด โดยปรากฏภาพกลุ่มเยาวชน 5 คน กำลังรุมทำร้ายป้าบัวผัน โดยมีการยืนยันว่า 1 ใน 5 เยาวชนที่ก่อเหตุเป็นลูกของตำรวจระดับรองสารวัตรสืบสวน



ฟัน ‘ตำรวจ’ ปมคลิปเสียง ‘ถุงดำ’ คลุมหัวขู่ลุงเปี๊ยก 


วันที่ 17 ม.ค. 67 สำนักข่าวหลายแห่ง รายงานข่าวเกี่ยวกับคลิปเสียงสนทนา อ้างตำรวจใช้ถุงดำคลุมหัว "ลุงเปี๊ยก" บังคับให้รับสารภาพในคดีฆาตกรรม "ป้าบัวผัน"  โดยบทสนทนา พูดถึงกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้ถุงดำคลุมศีรษะ ซ้อม ล่ามโซ่ ตอนหนึ่งของบทสนทนาได้ระบุว่า เป็นการหยอกล้อของตำรวจชุดสืบสวน 


หลังคลิปเสียงเผยแพร่ออกไป วันที่ 17 ม.ค. พล.ต.ต.ออมสิณ บุญญานุสนธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว ได้มีคำสั่งย้าย พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากถูกระบุว่าเป็นเจ้าของเสียงตำรวจในคลิป


ต่อมา 18 ม.ค. 67 ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว ได้ออกคำสั่งย้าย พ.ต.อ. พิสิทธิ์ ผู้กำกับ สภ.อรัญประเทศ ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว พร้อมกับแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.เอกอนันต์ หูแก้ว รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สระแก้ว รักษาการแทนตำแหน่งผู้กำกับ สภ.อรัญประเทศ โดยคำสั่งมีผลทันที


สำหรับข้อกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ ใช้ถุงดำคลุมหัว ถือเป็นการกระทบสิทธิมนุษยชน มีความผิดตามมาตรา 157  และมีความ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. พ.ศ.2565 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี -15 ปี


ผลสอบ 2 ตร.อรัญประเทศ ผิดวินัย-ม.157 ปมบีบ “ลุงเปี๊ยก” ให้สารภาพ


พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภาค 2 เปิดเผยว่า ภายหลังจากตั้งคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย โดย ตร.คนแรกมีความผิดตามมาตรา 157 ส่วนคนที่สองมีความผิดฐาน พ.ร.บ.การทรมาน จึงได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบว่ามีการกระทำความผิดก็จะต้องดำเนินการเอาผิดทางวินัยและอาญา 


ประชาชน ไม่เชื่อมั่น ‘องค์กรตำรวจ’ 


ต้องยอมรับว่า ‘คดีป้าบัวผัน’ ทำให้คนในสังคมไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ เนื่องจากมีความผิดพลาดตั้งแต่ ‘ต้นธาร’ การสอบสวน ชั้นตำรวจ มีการจับ ‘ลุงเปี๊ยก’ ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้อง 


ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจ นิด้าโพล เรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจในสายตาของประชาชน" หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรณีความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการนำเสนอข่าว หรือ การแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 26.72 ระบุว่า เชื่อมั่นน้อย ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 8.93 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก



สำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ พบกรุงเทพฯ มากสุด


ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  สำรวจข้อมูลแจงนับคนไร้บ้านครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนพ.ค. 2566 พบคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน พบในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงสุด 1,271 คน คิดเป็นสัดส่วน 50.86% รองลงมา ชลบุรี 126 คน คิดเป็น 5.04% เชียงใหม่ 118 คน คิดเป็น 4.72% ขอนแก่น 73 คน คิดเป็น 2.92% กาญจนบุรี 62 คนคิดเป็น 2.48% สาเหตุหลักมาจากตกงาน 44.72% มีปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 45-55 ปี ทั้งยังพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ถึง 39 % 



ถึงเวลา…ต้องทบทวนกฎหมาย เด็ก-เยาวชน 


ในมุมมองนักกฎหมายมีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวน เพื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้พิจารณาแค่อายุ แต่ให้พิจารณาจากพฤติการณ์ของการก่อเหตุ 


เพราะย้อนไปดูคดี ‘อาชญากรรม’ ที่ก่อเหตุโดย ‘อาชญากร’ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น คดีหลานสาววัย 14 ปี ร่วมแฟนหนุ่มฆ่าปาดคอยาย, คดีเด็กหญิงอายุ 13 ปี และ 15 ปี ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อนโดยจับกดน้ำจนเสียชีวิต, คดีเยาวชนอายุ 16 ปีขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงชนคนเสียชีวิต เป็นต้น


สำหรับแนวทางในการ ‘แก้กฎหมาย’ เพิ่มโทษเด็กและเยาวชนในไทย เป็นเพียงแนวคิดที่เริ่มมีการส่งเสียงสะท้อนออกมา ถึงความใจดีของกฎหมายที่อาจทำให้เด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มก่อเหตุรุนแรงในอนาคตอาจก่อเหตุขึ้นได้ เพราะบทเรียนจากหลายคดีที่ผ่านมาจนถึงคดีล่าสุด ผู้ก่อเหตุต่างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 


แต่ในทางปฏิบัตินั้น การแก้กฎหมายคงไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนรวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย




ภาพ TNNOnline 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง