รีเซต

จัดประกวด "ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen" หวังปลุกปั้นนักออกแบบแฟชั่น

จัดประกวด "ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen" หวังปลุกปั้นนักออกแบบแฟชั่น
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2565 ( 15:34 )
192

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. จัดการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (SACIT Award 2022) ภายใต้แนวคิด "ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen" เป็นการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นในรูปแบบ Ready to wear จากผ้าไทยที่สะท้อนภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ความงามของผ้าไทยใน 4 ภูมิภาคได้อย่างร่วมสมัย มุ่งเน้นต่อยอดงานผ้าไทยประเภทต่างๆ จากผลงานการสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการผู้เป็นสมาชิก สศท. นำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบ/วัสดุหลักในการออกแบบให้เกิดเป็นเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ที่ตรงกับความต้องการของทุกเจนเนอเรชั่น ในแต่ละภูมิภาค 

เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประกวดได้นำเสนอรูปแบบ และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ และตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นในรูปแบบ Ready to wear ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดคุณค่าของผ้าไทย โดยมุ่งเน้นให้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยเข้ากับทักษะการออกแบบเสื้อผ้าให้สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน และนำไปสู่การเชื่อมโยงผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและโอกาสในการร่วมงานกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประกวดครั้งนี้ว่า SACIT ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถด้านการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกายได้นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานที่สื่อถึงกระบวนการ และเทคนิคเชิงช่างดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ในการพัฒนาลวดลาย เทคนิค รูปแบบแพทเทิร์นชุดจากผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงเป็นการนำเรื่องราวจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ทักษะฝีมือผลงานศิลปหัตถกรรม 

ทั้งนี้ผลงานรางวัลชนะเลิศ จำนวน 14 ผลงาน จะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะแผนธุรกิจโดยการสนับสนุนให้มีการผลิตผลงานเพื่อจำหน่ายจริงร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ ภายใต้แนวคิด Brand X SACIT Award รวมถึงได้เผยแพร่ผลงาน และมีโอกาสเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ทั้งนี้ผ้าไทยในแต่ละภูมิภาคมีอัตลักษณ์และคุณค่าที่แตกต่างกันไป ผ้าแต่ละผืนมีเรื่องราวและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ในนั้น 

การประกวดในครั้งนี้จึงได้แบ่งการประกวดในแต่ละหัวข้อ ให้เป็นการประกวดในแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อให้ได้ตัวแทนที่เหมาะกับคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น เพื่อเกิดเป็นค่านิยมให้คนทั่วไปหันมาสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น

การประกวด SACIT Award 2022 “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ในปีนี้ มีโจทย์หลักคือการนำผ้าไทยมาออกแบบ ตัดเย็บเป็นชุดเครื่องแต่งกายแฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ตาม lifestyle ของคนในแต่ละ Generation และสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีโอกาสพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ออกเป็น 2 ประเภท 

ภายใต้หัวข้อการประกวดต่างๆ ดังนี้

1. “ประเภทบุคคลทั่วไป” มีการประกวดใน 4 ภูมิภาค โดยกําหนดหัวข้อการประกวด ออกเป็นภูมิภาคละ 3 หัวข้อ ได้แก่

1.1 Baby Boomer ชุดผ้าไทยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย ที่มีอายุระหว่าง 58-76 ปี

1.2 Gen-X ชุดผ้าไทยที่เหมาะสำหรับวัยพี่ใหญ่ ที่มีอายุระหว่าง 42-57 ปี

1.3 Gen-Y ชุดผ้าไทยที่เหมาะสำหรับวัยทำงานรุ่น Millennials ที่มีอายุระหว่าง 26-41 ปี

2. “ประเภทนิสิต/นักศึกษา” มีการคัดเลือกผลงานการประกวดจาก 4 ภูมิภาค มาชิงชนะเลิศระดับประเทศ โดยกําหนด หัวข้อการประกวด ออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่

2.1 Gen-Y ชุดผ้าไทยที่เหมาะสำหรับวัยทำงานรุ่น Millennials ที่มีอายุระหว่าง 26-41 ปี วัยทำงาน (Gen-Y โดย Gen-Z)

2.2 Gen-Z ชุดผ้าไทยที่เหมาะสำหรับวัยแรกรุ่นยุค Digital ที่มีอายุระหว่าง 10-25 ปี (Gen-Z โดย Gen-Z)

การประกวดในครั้งนี้จะมีเงินรางวัลรวมกว่า 730,000 บาท โดยผู้ชนะการประกวดในประเภท “บุคคลทั่วไป” ของแต่ละหัวข้อในแต่ละภาคจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ ส่วนผู้ชนะการประกวดประเภท “นิสิต/นักศึกษา” ของแต่ละหัวข้อจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ และรางวัล Popular Vote จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ 

ผู้ชนะในแต่ละหัวข้อการประกวดจะได้รับการส่งเสริมเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งได้รับโอกาสในการร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ

ทั้งนี้ จะเปิดรับสมัครแบบร่างผลงานเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 24 กรกฎาคม 2565 โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัคร และติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sacitaward2022.com และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง FACEBOOK : SACIT Award 2022 www.facebook.com/Sacitaward2022 หรือ โทร 064-2905514 และ 084-4247464

ภาพจาก สถาบันส่งเสริมศิลหัตถกรรมไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง