รีเซต

เรือวิจัยจีน 'ทั่นสั่ว-1' แล่นกลับฝั่ง หลังเสร็จภารกิจสำรวจก้นทะเล

เรือวิจัยจีน 'ทั่นสั่ว-1' แล่นกลับฝั่ง หลังเสร็จภารกิจสำรวจก้นทะเล
Xinhua
6 ธันวาคม 2564 ( 10:45 )
32
เรือวิจัยจีน 'ทั่นสั่ว-1' แล่นกลับฝั่ง หลังเสร็จภารกิจสำรวจก้นทะเล

ซานย่า, 6 ธ.ค. (ซินหัว) -- สถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมใต้ทะเลลึก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน รายงานว่าทั่นสั่ว-1 (Tansuo-1) เรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรือแม่ของเฟิ่นโต้วเจ่อ (Striver) เรือดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมที่ถูกพัฒนาในจีน เดินทางกลับสู่ท่าเรือเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนแล้ว เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (5 ธ.ค.) หลังเสร็จสิ้นการสำรวจมหาสมุทรในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench)

 

ทั่นสั่ว-1 ออกเดินทางจากเมืองซานย่าเมื่อวันที่ 14 ต.ค. โดยระหว่างภารกิจสำรวจระยะเวลา 53 วัน เฟิ่นโต้วเจ่อประสบความสำเร็จในการดำน้ำรวม 23 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการดำน้ำที่ระดับลึกเกิน 10,000 เมตร จำนวน 6 ครั้ง

 

นักวิจัยวิทยาศาสตร์ได้เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ จุลินทรีย์ในทะเล ตะกอน และหิน ซึ่งนับเป็นการรวบรวมข้อมูลอันมีค่า เพื่อใช้ในการวิจัยทางพันธุกรรมและสร้างความเข้าใจในโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าว

 

นอกจากนั้นคณะนักวิจัยจีนที่เข้าร่วมการสำรวจได้ร่วมกันเปิดตัวฉันทามติมาเรียนา (Mariana Consensus) ซึ่งเรียกร้องการจัดตั้งระบบอันมีมาตรฐานสำหรับการสำรวจใต้ทะเลลึก เพื่อการอนุรักษ์และการแบ่งปันตัวอย่างและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใต้ท้องทะเลลึกในระยะยาว และบรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศในการสำรวจใต้ทะเลลึก

 

คณะนักวิจัยยังเปิดโครงการวิจัยสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (MEER) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเชื้อเชิญนักวิจัยจากในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อจัดการปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญร่วมกัน อาทิ ต้นกำเนิดของการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง