มนุษย์รู้จักพื้นทะเลเพียง 0.001% ระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดแห่งนี้ต้องใช้เวลาสำรวจอีก 100,000 ปี

เมื่อมองจากอวกาศพื้นผิวของโลกส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยมหาสมุทรลึก แต่การศึกษาใหม่ชี้ว่า มนุษย์ยังเข้าใจสิ่งที่อยู่ใต้ทะเลลึกเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่ออ้างอิงจากภาพถ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า
นักวิจัยจาก Ocean Discovery League ร่วมกับ Scripps Institution of Oceanography และมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ข้อมูลสาธารณะที่เผยให้เห็นว่า ในช่วง 67 ปีของการบันทึกกิจกรรมการดำน้ำลึก มนุษย์สามารถถ่ายภาพพื้นทะเลลึกได้เพียง 0.0006 ถึง 0.001% หรือราว 3,823 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศเบลเยียม หรือใหญ่กว่ารัฐโรดไอแลนด์ของสหรัฐฯ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดร.แคทเธอรีน เบลล์ (Katy Bell) นักสำรวจทะเลลึกและผู้เขียนหลักของงานวิจัย ร่วมกับทีมของเธอ ได้รวบรวมกิจกรรมดำน้ำลึกกว่า 43,000 รายการ ในพื้นที่ทะเลลึกตั้งแต่ระดับความลึก 200 เมตรขึ้นไป ทั้งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) และทะเลหลวง โดยไม่รวมการสำรวจเชิงพาณิชย์ด้านน้ำมันและก๊าซ
น่าแปลกใจที่เกือบ 30% ของภาพถ่ายที่มีอยู่ มาจากกล้องขาวดำความละเอียดต่ำในช่วงก่อนปี 1980 และกว่า 97% ของกิจกรรมการดำน้ำทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 1958 มาจากเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เท่านั้น ในขณะที่การดำน้ำลึกส่วนใหญ่ในปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศรายได้สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
Maximum depths of deep-sea dives between 1958 and 2024. (Bell et al., Sci. Adv., 2025)
แนวโน้มการดำน้ำก็เปลี่ยนไปตลอดหลายทศวรรษ จากที่ในช่วงทศวรรษ 1960 การดำน้ำลึกกว่า 2,000 เมตร มีสัดส่วนเกือบ 60% ปัจจุบันกลับลดเหลือเพียง 1 ใน 4 แม้ว่าส่วนใหญ่ของพื้นมหาสมุทรโลกจะอยู่ลึกระหว่าง 2,000-6,000 เมตร
ดร.แคทเธอรีน เบลล์ กล่าวว่า “แม้เราจะเพิ่มจำนวนแพลตฟอร์มสำรวจใต้ทะเลลึกมากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก แต่หากยังใช้วิธีเดิมในการสำรวจทั้งหมด ก็ต้องใช้เวลาราว 100,000 ปี จึงจะเห็นพื้นทะเลทั้งหมดได้จริง”
นอกจากนี้ ดร.แคทเธอรีน เบลล์ ยังแจ้งเตือนว่า การสำรวจใต้ทะเลที่จำกัด ส่งผลต่อการทำความเข้าใจระบบนิเวศมหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่โลกกว่า 66% โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำเหมืองใต้ทะเล และการแสวงหาทรัพยากร
Deep submergence activity through the decades. (Bell et al., Sci. Adv., 2025)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1961 จอห์น เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ นักกฎหมายและนักข่าว เคยกล่าวต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า “ความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทรเป็นมากกว่าเรื่องของความอยากรู้อยากเห็น การอยู่รอดของเราอาจขึ้นอยู่กับความรู้เหล่านี้” ซึ่งถึงวันนี้ หลังผ่านไปกว่า 70 ปี คำกล่าวดังกล่าวยังคงสะท้อนความจริงได้เป็นอย่างดี
“การประมาณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในวิธีการสำรวจและศึกษาทะเลลึก” ทีมวิจัยสรุป
งานวิจัยฉบับเต็มเผยแพร่ในวารสาร Science Advances วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา