รีเซต

จริงหรือไม่? แสงไฟริมถนน ส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง

จริงหรือไม่? แสงไฟริมถนน ส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง
มติชน
27 พฤศจิกายน 2563 ( 12:05 )
183

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่อง เหตุการณ์ที่ชาวนาพากันเอากระสอบไปคลุมหลอดไฟริมทาง โดยขอเวลา 1 เดือน ให้ข้าวออกรวงแล้วจะเอากระสอบออก

 

เหตุผลคือข้าวไม่ออกรวง เพราะแสงไฟริมทางนั่นเอง

 

ยกตัวอย่าง ที่หมู่ 9 ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบว่ามีการใช้กระสอบปุ๋ยไปคลุมไฟตามถนน เพราะชาวนาต้องป้องกันแสงส่องสว่างในช่วงกลางคืน ที่ทำให้ข้าวไม่ออกรวงรวง หรือออกรวงช้ากว่าปกติ พบว่าพื้นที่นาริมถนนบางแปลงที่ยังไม่ได้ทำการคลุมโคมไฟริมถนน ที่อยู่ติดกับแปลงนาข้าว

 

นายประจวบ รอดจรัญ สมาชิกสภาเทศบาลเพชรเมืองทอง กล่าวว่า ตนทำนา 50 ไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวที่ติดริมถนน ทุกวันนี้ได้รับผลกระทบข้าวไม่ออกรวง เนื่องจากมีโคมไฟส่องแสงสว่างข้างทางในช่วงกลางคืน ทำให้ข้าวไม่ออกรวง จึงไปทำเรื่องแจ้งกับทางเทศบาลเพชรเมืองทอง ขออนุญาตในการคลุมโคมไฟข้างทาง เมื่อข้าวที่หว่านไถมีอายุประมาณ 70 วัน ใกล้ออกรวง ก็จะนำถุงมาคุลมข้างทางประมาณ 1 เดือน จึงจะนำกระสอบปุ๋ยออก

 

“ซึ่งชาวนาในพื้นที่จะมีการคลุมกระสอบที่บริเวณโคมไฟไม่พร้อมกัน โดยจะมีการเว้นระยะทางให้มองเห็นเส้นทางในตอนกลางคืน และหากชาวนาคนไหนไม่ได้ทำการคลุมโคมไฟ ก็จะทำให้ข้าวไม่ออกรวงหรือออกรวงช้ากว่าปกติ” นายประจวบ กล่าว

 

ด้าน นายจำลอง อายุ 47 ปี ชาวนา กล่าวว่า ตนทำนา 60 ไร่ ตอนนี้ข้าวในนาตั้งท้องเริ่มออกรวงข้าวแล้ว ส่วนที่บริเวณมีแสงไฟริมถนนส่องสว่างนั้น มองเห็นได้ชัดเจนว่าข้าวไม่ออกรวง มีเพียงแต่ใบข้าวเว้นระยะมีความยาวประมาณ 7-8 เมตร สลับกันไป

 

 

เบื้องต้นได้ไปทำการแจ้งเรื่องความเดือดร้อนให้กับทางเทศบาลเพชรเมืองทอง ได้รับทราบปัญหาแล้ว พร้อมจะทำการขออนุญาตในการใช้กระสอบปุ๋ยคลุมโคมไฟข้างทาง นานประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ข้าวได้ออกรวงและทำการเก็บเกี่ยวนำไปขายเลี้ยงครอบครัวต่อไป

 

หรือเคสล่าสุด วันนี้ (27 พ.ย.)  ที่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ชาวนา ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาไฟส่องสว่าง บริเวณด้านบนสะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ ส่งผลให้ข้าวหยุดการเจริญเติบโต ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งๆที่ผ่านมา เคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

 

 

ไม่ใช่เฉพาะที่อ่างทอง แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายจังหวัด ที่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ทั้งพื้นที่จังหวัดภาคกลาง และ ภาคอีสาน ที่ชาวนาออกมาเรียกร้อง และเห็นตรงกันว่าแสงไฟทำให้ข้าวไม่ออกรวง

 

ที่จริง กรณีคล้ายกัน เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เมื่อปีก่อน (2562) ก็เคยเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น จนในตอนนั้น ต้องถึงกับให้นักวิทยาศาสตร์ ออกมาอธิบาย

 

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

 

แสงไฟถนน อาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกรวงของต้นข้าวจริง แต่ปัจจัยใหญ่คือ การเลือกพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูกให้เหมาะสมครับ โดยควรใช้แต่พันธุ์ข้าวชนิด “ไม่ไวต่อช่วงแสง” เท่านั้น

 

“แสง” เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชในการ “เจริญเติบโต” พืชส่วนใหญ่ที่ได้รับแสงน้อย ก็ย่อมเจริญเติบโตน้อยกว่าพืชที่ได้รับแสงมาก ดังนั้น การที่บอกว่า ต้นข้าวได้รับแสงจากหลอดไฟถนนและทำให้ไม่เจริญเติบโตนั้น ย่อมไม่ถูกต้อง !

 

แต่แสง ก็มีผลสำคัญต่อเรื่อง “การออกดอกออกรวง” ของข้าวด้วยที่เรามักจะชอบเรียกว่า “ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity to photoperiod)” โดยช่วงความยาวของกลางวัน มีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ทำให้เราแบ่งพันธุ์ข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

 

1. “ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง” จะออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้น (น้อยกว่า 12 ชั่วโมง) พันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่ และจะต้องปลูกในฤดูนาปี โดยอาศัยน้ำฝน และมีความยาวของกลางวันสั้นเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ข้าวกลุ่มนี้ออกดอกได้ โดยมักจะออกดอกในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม

 

ข่าวกลุ่มที่ไวต่อช่วงแสงนี้ จะมีประโยชน์ต่อชาวนาในภาคอีสานที่ถึงฝนมาเร็วมาช้า แต่มักจะหมดฤดูฝนในต้นเดือนพฤศจิกายน จึงยังออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แม้ผลิตผลจะลดต่ำลง

 

 

2. “ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง” การออกดอกของข้าวกลุ่มนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตครบตามกำหนด ก็จะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว จึงใช้ปลูกได้ผลดีทั้งในฤดูนาปรังและนาปี โดยจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

 

ดังนั้น สรุปตรงนี้ได้ว่า “พันธุ์ข้าวไวแสง” เมื่อครบระยะการเจริญเติบโตของลำต้นแล้ว จะไม่สร้างช่อดอกจนกว่าจะได้รับช่วงแสงแบบที่ชอบ ส่วน “พันธุ์ข้าวไม่ไวแสง” จะเริ่มสร้างช่อดอกทันที หลังจากที่ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้นครบระยะแล้ว

 

ทางกรมวิชาการเกษตร โดยเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ควรจะเข้าไปให้ความรู้กับชาวนา ว่าพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่นั้นเป็นประเภทใด และควรจะต้องดูแลอย่างไร เช่น

 

– ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
– กข15 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
– กข6 ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง
– เหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง
– สันป่าตอง ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง
– สกลนคร ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง
– สุรินทร์ 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– ชัยนาท 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– สุพรรณบุรี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– สุพรรณบุรี 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– ปทุมธานี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– พิษณุโลก 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
– หันตรา 60 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
– ปราจีนบุรี 1 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

 

(สวนข้าวพันธุ์พื้นเมืองนั้น มักจะเป็นข้าวกลุ่มที่ไม่ไวต่อช่วงแสง)

 

“การไปปิดคลุมไฟถนนด้วยกระสอบแบบนี้ อาจจะช่วยเหลือต้นข้าวโดยรอบรัศมีไม่กี่เมตรให้ออกรวงได้เหมือนต้นอื่นในนา แต่ในทางกลับกัน การกระทำเช่นนี้ย่อมสร้างความเดือดร้อนและเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัญจรมาได้ จึงไม่คุ้มค่า และไม่อยากให้ทำครับ” รศ.ดร.เจษฎา กล่าวทิ้งท้าย

 

สรุป จากคำถาม จะพบว่า แสงไฟริมถนนส่งผลให้ข้าวออกรวงช้าจริง มีวิธีการแก้ไข หากไม่ต้องการเอากระสอบไปคลุมไฟ นั่นคือบริเวณที่ใกล้แสงไฟ ควรเลือกพันธุ์ข้าว โดยดูพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง นั่นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง