Caltech เตรียมส่งฟาร์มโซลาร์ ขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2022 นี้
ปัจจุบันการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก หรือที่เรียกว่าฟาร์มโซลาร์เป็นเรื่องที่สามารถเห็นได้ไม่ยาก แต่แคลเทค (Caltech) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียกำลังจะไปไกลกว่านั้น ด้วยการส่งฟาร์มโซลาร์ขึ้นไปโคจรในวงโคจรรอบโลก เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถทำได้ 24 ชั่วโมง
เตรียมส่งตัวต้นแบบปลายปีนี้
ซึ่งในขณะนี้แคลเทคกำลังพัฒนาฟาร์มโซลาร์แบบโมดูลที่มีขนาดพื้นที่ 3.5 ตารางไมล์ หรือประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร และจะมีการส่งตัวต้นแบบขึ้นสู่วงโคจรภายในเดือนธันวาคม 2022 นี้
โดยแคลเทคได้เริ่มโครงการที่ชื่อว่า “สเปซ โซลาร์ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (Space Solar Power Project)” มาเกือบ 10 ปี แล้ว ด้วยการบริจาคกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,800 ล้านบาท จากโดนัล เบรน (Donald Bren) ประธานบริษัท เออร์ไวน์ คอมพานี (Irvine Company) ในปี 2013 และได้รับการบริจาคเพิ่มอีกจากบริษัท นอร์ทธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) 17.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 660 ล้านบาท ในปี 2015 ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ทีม หลัก คือ
1. ทีมสร้างแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ได้แผงโซลาร์เซลล์ที่มีน้ำหนักเบากว่าและมีกำลังการผลิตมากกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
2. ทีมพัฒนาอุปกรณ์น้ำหนักเบาพิเศษราคาประหยัดสำหรับแปลงพลังงานให้อยู่ในรูปแบบคลื่นวิทยุเพื่อส่งกลับมายังโลก
3. ทีมพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ทีม แรกมารวมกัน เพื่อให้ได้ฟาร์มโซลาร์ในรูปแบบโมดูล
แสงอาทิตย์ที่เข้มข้นกว่าบนพื้นโลก
โดยแสงอาทิตย์ในอวกาศมีความเข้มข้นกว่ามากเมื่อเทียบกับแสงอาทิตย์บนโลก เนื่องจากแสงอาทิตย์บนพื้นโลกเป็นแสงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศมาแล้ว ดังนั้นจึงมีความเข้มข้นน้อยกว่า การทำฟาร์มโซลาร์บนอวกาศจึงจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า
นอกจากแคลเทคแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่กำลังพัฒนาโครงการฟาร์มโซลาร์เชิงพาณิชย์บนอวกาศ รวมไปถึงองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ด้วย
ข้อมูลจาก interestingengineering.com
ภาพจาก www.caltech.edu