รีเซต

สสส. ปลุกกระแสกินผักตามฤดูกาล ลดปนเปื้อนสารเคมี

สสส. ปลุกกระแสกินผักตามฤดูกาล ลดปนเปื้อนสารเคมี
TNN ช่อง16
5 กรกฎาคม 2564 ( 17:26 )
83

นางสาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งหวังให้คนไทยหันมากินผักให้มากขึ้น และเลือกกินผักตามฤดูกาล โดยสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยกินผักให้เพียงพอ และปลอดภัย ผ่านการสื่อสารรณรงค์ในสังคม ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 มีการประกาศรางวัลให้โฆษณา ชุด Bok Choy (กวางตุ้ง) ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน (Silver) ในหมวดภาพยนตร์ (Film) จากงาน  Cannes Lions International Festival 2021 ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของปีนี้ที่ประเทศไทยได้รับ และมีเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับรางวัลถึงระดับ Silver นำมาซึ่งความภูมิใจให้กับประเทศไทย




“ดีใจมากที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล ช่วงต้นปี 2563 ที่มีการเผยแพร่โฆษณาชุดนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดี คนไทยชื่นชอบ เห็นประโยชน์ มียอดผู้เข้าชมในยูทูบมากกว่า 20 ล้านครั้ง ที่สำคัญมองว่า เป็นการสะกิดให้คนเลือกกินผักที่ปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมการกินผักของคนไทย มักกินผักที่ไม่ทราบแหล่งที่มามากกว่าผักตามฤดูกาลที่ปลอดภัยใกล้บ้าน สสส. ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะผักที่ซื้อมาปรุงอาหาร อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การกินผักที่สะอาดและปลอดภัย ไม่ใช่แค่การเลือกผักที่ดูสด หรือล้างให้สะอาดเท่านั้น แต่ การกินผักให้ตรงตามฤดูกาล ก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งถ้าทุกคนไม่กินผักนอกฤดูกาล การเพาะปลูกผักนอกฤดูของเกษตรกรก็จะลดลง รวมถึงการใช้สารเคมีต่างๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย”นางสาวสุพัฒนุช กล่าว

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็น “ปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผัก และผลไม้ในเวทีระดับนานาชาติ และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันกระแสใส่ใจสุขภาพมีมากขึ้น จากผลสำรวจสถานการณ์การกินผัก และผลไม้ในประเทศไทย ปี 2561 - 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีแนวโน้มกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้เพียงพอ ร้อยละ 34.50 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 38.7 ในปี 2562 อย่างไรก็ตามนอกจากการสื่อสารรณรงค์ในสังคมเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการกินผักผลไม้แล้ว สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายยังได้สนับสนุนให้รัฐบาลแสดงบทบาทนำด้านการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเสนอให้ยกระดับประเด็นการบริโภคผักผลไม้เป็นเป้าหมายระดับชาติ พร้อมการขับเคลื่อนเพื่อจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมมาตรการให้เกษตรกรปลูกผักผลไม้ปลอดภัยหรืออินทรีย์ เชื่อมโยงผลผลิตปลอดภัยหรืออินทรีย์เข้าสู่ครัวโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2579 



ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่มิถุนายน – ตุลาคม ผักที่ปลูกแล้วดูแลง่าย และมีรสชาติอร่อย เป็นผักมีน้ำเยอะ หรืออยู่ในน้ำ เช่น กุยช่ายดอก กุยช่ายใบ ขิง ข่า ชะอม ดอกขจร ดอกโสน ตำลึง  ถั่วฝักยาว น้ำเต้า บัวบก ใบขี้เหล็ก ใบแมงลัก ผักปลัง ผักกระเฉด ผักกูด ผักโขม ผักบุ้งนา ผักแว่น  ผักหวานบ้าน ฟักเขียว มะเขือพวง มะเขือส้ม หรือถ้าเป็นผลไม้ เช่น ส้มโอ ลิ้นจี่ สับปะรด มะเฟือง กล้วย จะเห็นว่ามีผักผลไม้หลายชนิดมาก เพราะผักและผลไม้ของบ้านเราหาได้ไม่ยาก มีขายในท้องตลาด เพียงแต่ต้องเลือกชนิด ความสด สะอาด โดยเฉพาะปลอดสารพิษได้ก็จะยิ่งดี หรือหากปลูกเองยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้ไม่มีสารตกค้างในร่างกายเพิ่มตามมาด้วย

สำหรับผลงานโฆษณาชุดกวางตุ้ง ยังได้รับ รางวัล Gold ประเภท  Public Interest–Health safety จากงาน Epica Awards 2019, รางวัล Bronze ประเภท Strategy & Technique: Copywriting & Storytelling จากงาน 2020 PHNX Tribute (by Adforum) ทั้งนี้ สามารถติดตามชมภาพยนตร์โฆษณาได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lP4bnsiK9gk


ข่าวที่เกี่ยวข้อง