หมอนิธิพัฒน์ ห่วงผู้ป่วยหนักติดโควิดร่วม ยอดพุ่งเตียงใกล้ล้น กทม.ส่อวุ่นอีกรอบ
ข่าววันนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า "ในการฝึกฝนวิชาชีพเฉพาะเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ผู้พิพากษา วิศวกร ทหาร และอีกหลายสาขา การฝึกฝนทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญกว่า ยังเป็นวัตรปฏิบัติที่มีมาช้านานและยังไม่มีวิธีการอื่นทดแทนได้ เวลาผมสอนแพทย์รุ่นหลัง เมื่อถึงจุดหนึ่งในการวินิจฉัยโรคที่ยากหรือซับซ้อนเพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม"
"ผมต้องใช้ “medical intuition” หรือผมมักแปลให้พวกเขาฟังเป็น เวชญาณ หรือ การหยั่งรู้ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ถ่ายทอดเป็นคำพูดไม่ได้ พวกเขาต้องสังเกต จดจำ และวิเคราะห์แยกแยะเอาเอง เพื่อไปสังเคราะห์เป็นแนวทางของตนเองในวิชาชีพที่มีเอกลักษณ์จำเพาะ (professional identity)"
"สิ่งนี้ผมเชื่อว่าทำให้มนุษย์เหนือกว่าสมองกลทุกชนิด เพราะสิ่งนี้แม้สมองกลจะเรียนรู้ได้และอาจทำได้ดีกว่าคนส่วนหนึ่งหรือคนส่วนใหญ่ แต่ไม่สามารถทำได้ดีกว่าสมองคนส่วนหนึ่ง ซึ่งนับวันอาจจะน้อยลงๆ เมื่อเทียบกับสมองกลที่ฉลาดขึ้นๆ แต่เชื่อว่ามันไม่มีทางชนะเรา เพราะอย่างน้อยมนุษย์เป็นผู้สร้างสมองกล"
"หลายคนอาจยังชิวๆ กับสถานการณ์โควิดในเมืองหลวงตามที่ภาครัฐให้ข้อมูล สามวันติดกันแล้วที่ยอดพุ่งเป็นสองเท่าตัวของยอดเฉลี่ยเมื่อสัปดาห์ก่อน นี่ยังไม่นับรวมยอด ATK อีกไม่รู้เท่าไร อย่างที่บอกกล่าวไปแล้วว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงจากโควิดในเมืองหลวงเราเพิ่มขึ้นช้าๆ มากว่าสองสัปดาห์"
"แต่ที่มากขึ้นเร็วคือผู้ป่วยหนักจากโรคอื่น แต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วยแบบไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่ว่าจะเป็นไตวายเรื้อรัง สมองขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากสะสมจนใกล้ล้นเกินศักยภาพเตียงโควิดที่จัดเตรียมกันไว้ในขั้นต้น เริ่มมีปัญหาการตกค้างของผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกโรงพยาบาลในระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบการบริหารจัดการโควิดในเมืองหลวงที่พิกลพิการกำลังถูกท้าทายอีกครั้ง"
"งวดนี้ปัจจัยหลายอย่างต่างจากกาลก่อนที่เดลต้ามาแรง ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารพ.หลักไม่ได้รุนแรงจากโควิดโดยตรง เตียงในรพ.หลักถูกผันไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิดเกือบเต็มศักยภาพเดิมแล้ว บุคลากรทางการแพทย์เริ่มเหนื่อยล้ากับโควิดแถมป่วยจากโควิดเพิ่มขึ้นด้วย และประชาชนเริ่มชินชาและละเลยการควบคุมการระบาด"
"ผมหวังว่า “เวชญาณ” ครั้งนี้จะไม่ถูกต้อง ที่มองเห็นเค้าลางความวุ่นวายของผู้ป่วยโควิดในใจกลางประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูงสุด พวกเรายังสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงชะตากรรมนี้ได้ #เดินหน้าต่อไปไม่หวั่นไหวโควิด"