รีเซต

ตลาดรถยนต์มือ 2 ของจีน ... ใหญ่ และเปี่ยมด้วยศักยภาพ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ตลาดรถยนต์มือ 2 ของจีน ... ใหญ่ และเปี่ยมด้วยศักยภาพ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
6 กรกฎาคม 2566 ( 18:12 )
102
ตลาดรถยนต์มือ 2 ของจีน ... ใหญ่ และเปี่ยมด้วยศักยภาพ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

เมื่อหลายวันก่อน ผมมีโอกาสไปบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจจีนยุคเอไอ และโอกาสทางธุรกิจของตลาดรถยนต์มือ 2 ของจีน” ที่จัดขึ้นโดยกรุงศรีออโต้ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก ผมเลยอยากนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านกันครับ ...

ในอดีต รถยนต์ถือเป็นสิ่งบ่งบอก “สถานะ” ในสังคมจีน การซื้อรถเก่าอาจสะท้อนภาพลักษณ์เชิงลบในด้านฐานะ คนจีนจึงมีทัศนคติของการเลือกซื้อ “รถยนต์ใหม่” ไว้ก่อน 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนมีทัศนคติเชิงลบกับ “รถมือ 2” ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพรถยนต์โดยรวมของจีนในยุคนั้นยังไม่ค่อยดีนัก ยิ่งพอเป็นรถเก่าก็มีสภาพที่แย่ลงไปอีก 

แถมตลาดรถยนต์มือ 2 ก็ยังขาดมาตรฐาน แถมคนจีนส่วนใหญ่ยังมีความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบรถยนต์ค่อนข้างจำกัด บางส่วนอาจกลัว “เสียหน้า” ว่าจะถูก “ย้อมแมว” ขาย 

แล้วทำไมตลาดรถยนต์มือ 2 จึงเติบโตแรงในช่วงที่ผ่านมา ... ประการหนึ่ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจและพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้รถยนต์บนท้องถนนของจีนในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 320 ล้านคัน มีสภาพที่ดีขึ้นมาก 

โดยในจำนวนนี้ ราว 20 ล้านคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ซึ่งอาจเป็นเพราะราคาพลังงานฟอสซิลที่สูง และกระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมที่มาแรงในจีนในช่วงหลายปีหลัง

ประการถัดมา ฐานะที่ดีขึ้นทำให้คนจีนที่มีใบขับขี่อยู่ 460 ล้านคนและมีนิสัยชอบ “ลองของใหม่” มองหารถใหม่เพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น ยิ่งในช่วงโควิด 

หลายคนตัดสินใจขายรถคันเดิมที่มีอายุการใช้งานไม่ถึง 2 ปีเพื่อซื้อรถใหม่ที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์เอนกประสงค์ ซึ่งทำให้สภาพรถยนต์มือ 2 ในจีนยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว 

การเติบใหญ่ของระบบนิเวศ (Eco-System) ของธุรกิจยานยนต์มือ 2 ในจีน อาทิ ตลาดสะสมรถยนต์เก่า ระบบการควบคุมและประเมินราคา ช่องทางการจำหน่ายและการส่งออก การคงคลังยานยนต์และชิ้นส่วน การขนส่ง และระบบบริการทางการเงิน รวมทั้งบริการหลังการขาย และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ส่งผลให้ตลาดรถยนต์มือ 2 ในจีนมีมาตรฐานขึ้น และผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพรถยนต์มือ 2 มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของช่องทางจัดจำหน่ายรถยนต์มือ 2 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนเข้ามากำกับควบคุมและสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจรถยนต์มือ 2 อย่างเป็นระบบ 

ในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจีนได้แก้ไขกฎหมายกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลดขั้นตอนการโอนป้ายทะเบียน การตรวจสภาพรถยนต์เก่า และการเปิดให้สามารถโยกย้ายป้ายทะเบียนรถยนต์มือ 2 ได้ทั่วจีน 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกรรมการซื้อขายรถมือ 2 ระหว่างบุคคลธรรมดา มาตรการเหล่านี้ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการครอบครองรถยนต์เก่า 

นักวิเคราะห์ในวงการยานยนต์ประเมินว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวช่วยให้ผู้บริโภคจีนลดภาระค่าใช้จ่ายในซื้อหารถเก่าราว 7,000 หยวนต่อคัน คิดเป็นกว่า 10% ของราคารถยนต์เก่าเฉลี่ยของจีน 

หรือว่าง่ายๆ มาตรการของภาครัฐดังกล่าวช่วยประหยัดตังค์ของคนที่ซื้อรถยนต์เก่าได้กว่า 10% ของราคารถยนต์

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังผ่อนคลายการถือครองรถยนต์มือ 2 ได้มากกว่า 3 คัน แต่ทั้งนี้ ต้องมีระยะเวลาไม่เกินเวลา 1 ปี ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและตลาดรถยนต์มือ 2 ในเวลาต่อมา

ในอีกด้านหนึ่ง การค้าออนไลน์ในจีนที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดรถยนต์เก่ามีระดับการแข่งขันที่มากขึ้น สภาพตลาดมีความโปร่งใสด้านราคาและคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น 

เราเห็นแพล็ตฟอร์มขายรถยนต์มือ 2 ผุดขึ้นมากมาย อาทิ Che300.com และ Guazi.com หรือXianyu.com แพล็ตฟอร์มที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z 

สิ่งนี้ยังสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ของจีนมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับ “รถยนต์มือ 2” บางคนก็เอาเรื่อง “แบรนด์” เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอาจมีมุมมองว่า รถยนต์แบรนด์ดีมือ 2 ก็ยังดีกว่ารถยนต์ใหม่ที่มีแบรนด์ระดับกลาง

นอกจากนี้ ก็ยังมีแพล็ตฟอร์มประมูลรถยนต์เก่าอย่าง Tiantian Paiche ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคจีนอีกด้วย

ประการที่ 4 ที่เป็นแรงส่งอย่างไม่คาดคิดก็คือ แรงกดดันจากสงครามการค้า (Trade War) ที่ลากต่อไปถึงสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วง 3-4 ปีหลัง ก็นำไปสู่การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ 

โดยที่รถยนต์สมัยใหม่ต้องใช้ชิปในการควบคุมในหลายส่วน การขาดแคลนจึงผลกระทบต่อปริมาณที่สามารถผลิตได้

นอกจากนั้น อุตสาหรรมยานยนต์ยังต้องเผชิญกับ “ความป่วน” ของห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องจากการล็อกดาวน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้รถยนต์ใหม่ผลิตออกมาได้น้อยลง มีคุณภาพต่ำลง หรือล่าช้ากว่าปกติ

ค่ายรถยนต์เลือกใช้ชิปที่มีอยู่อย่างจำกัดผลิตโมเดลพรีเมี่ยมที่ทำเงินได้ดีก่อน ส่งผลให้รถยนต์ตลาดระดับกลางออกสู่ท้องตลาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้บริโภคจึงหันไปมองหารถยนต์มือ 2 แทน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะลากยาวจนถึงปัจจุบัน ทำให้ “ความคุ้มค่า” เป็นจุดขายที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญอย่างมาก และรถยนต์มือ 2 ได้กลายเป็น “ทางเลือกใหม่” ของชาวจีน

กำลังสนุกเลย แต่พื้นที่ของผมหมดแล้ว เรายกยอดไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...


ภาพจาก : AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง