รีเซต

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบมาตรการคุมโควิด-19 แนวใหม่ รองรับเปิดประเทศ

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบมาตรการคุมโควิด-19 แนวใหม่ รองรับเปิดประเทศ
TNN ช่อง16
23 สิงหาคม 2564 ( 14:23 )
178

ข่าววันนี้ (23 ส.ค.64) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการเปิดประเทศ อย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมโรคแนวใหม่ มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal ในองค์กร สถานประกอบการ ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคของสถานประกอบการนั้นๆ ในพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

 

และการใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกินร้อยละ 10 แยกไปรักษาที่ รพ.สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อไปได้

 

เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานต่อไป กลับบ้านได้ ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้ โดยแนวทางปฏิบัติในครั้งนี้ จะดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย 

 

ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นั้น หลักการพิจารณา เช่น การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมาย การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในมาตรการสาธารณสุขต่างๆ DMHTT ที่ออกมา  มาตรการ Bubble and Seal ขององค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญต้องมีการประเมินมาตรการสาธารณสุขและระบบสาธารณสุขที่สามารถรองรับได้ 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติสนับสนุนให้มีตัวแทนสุขภาพจังหวัด ที่สามารถเข้าร่วมวางแผนหารือและตรวจสอบมาตรการต่างๆร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อในจังหวัดนั้นๆ ได้ 

 

รวมถึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่อง การแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวง เรื่อง การยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ... เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพาหนะจากต่างประเทศที่จะเข้ามาประเทศไทยทั้งในด่านบก เรือ และอากาศ 

 

ส่วนวาระอื่นๆ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ผู้เดินทางที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) รับรองผู้ที่ฉีดวัคซีนสปุตนิกวี เพิ่มเข้ามา เพื่อร่วมในโครงการ 

 

ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ซึ่งเดิมมีการกำหนดการล็อกดาวน์ไปถึงวันที่ 31 ส.ค. หลังจากนี้ คาดว่าจะเริ่มมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ตามแนวทางที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ร่วมกันหารือข้อเสนอมาตรการที่นำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามทิศทางที่มีการเตรียมการและวางแผนภายใต้มาตราการการควบคุมโรค  

 

ทั้งนี้ อาจจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ และรายงานข้อเสนอไปยังทาง ศบค.ต่อไป

 

ในส่วนข้อมูลสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรายวันที่เริ่มลดจำนวนลง อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จํานวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงเป็นสัญญาณที่ดีของสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งมาจากหลายมาตรการที่ดำเนินการอยู่ เช่น การเร่งฉีดวัคซีนโควิด การล็อกดาวน์ ประชาชนให้ความร่วมมือ และการเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK  

 

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังถือเป็นจุดเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังและยังต้องเข้มงวดมาตรการต่างๆ ต่อไป รวมถึงยังต้องประเมินสถานการณ์อีกภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ด้วย ซึ่งจากนโยบายการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีภายใน 120 วัน ยังถือเป็นเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามดำเนินการ ให้เป็นไปตามแผนอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่ผ่านมาก็ถือเป็นหนึ่งในการเปิดประเทศ ทั้งนี้ การเปิดประเทศอาจไม่ได้เปิดพร้อมกันทุกพื้นที่ทั้งหมด ต้องประเมินพื้นที่แต่ละส่วนอีกครั้ง

 

ส่วนประเด็นที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ถึงการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ผ่าน Airborne หรือ ละอองฝอยทางอากาศ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ข้อมูลยังเป็นเช่นเดิม การติดต่อจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็นทางละอองฝอย droplet เป็นหลัก 

 

ส่วนการแพร่กระจายติดต่อในลักษณะ Airborne เป็นบางกรณีพิเศษที่อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะในพื้นที่แออัด สถานที่จำเพาะ อากาศไม่ถ่ายเท มีการรวมกลุ่มอยู่อย่างแออัด หลักๆแล้วยังเป็นการติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก 

 

ทั้งนี้ Airborne คือละอองที่มีขนาดเล็กมากน้อยกว่า 5 ไมครอนหรือละอองเสมหะที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็กและมีเชื้อโรคที่มีชีวิตก็อยู่ระยองนี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกล ส่วน droplet คือละอองฝอยจากน้ำมูกน้ำลาย หรือเสมหะ ของผู้ป่วยที่ไอจามออกมา

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง