รีเซต

คิกออฟ 25 จังหวัดแรก เริ่มค้นหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษา

คิกออฟ 25 จังหวัดแรก เริ่มค้นหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษา
TNN ช่อง16
17 กรกฎาคม 2567 ( 16:55 )
50

17 กรกฎาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ให้กับคณะทำงาน 25 จังหวัด เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานร่วมกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และภาคีเครือข่ายรวมกว่า 250 คนเข้าร่วม ณ ศูนย์การประชุม อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

 ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน โดยจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ใน 4 มาตรการสำคัญ ‘ค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล’ เด็กและเยาวชน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้แก่

1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา

2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม

3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง

4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn

ทั้ง 4 มาตรการกำลังดำเนินงานโดย 11 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 อันประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) และ กสศ. โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ทุกจังหวัดได้เริ่มกระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยมีแอปพลิเคชัน ‘Thai Zero Dropout’ สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า

จากการติดตามข้อมูลเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2567 ของนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์กรปกครองท้องถิ่น พบว่า จากตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน ณ 30 พฤศจิกายน 2566 ในภาคเรียนที่ 1/2567 เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้กลับเข้าเรียนในระบบแล้วจำนวนทั้งสิ้น 139,690 คน คิดเป็นร้อยละ 13.6 ของเด็กนอกระบบการศึกษา จำแนกเป็นการเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและอนุบาล จำนวน 109,850 คน (ร้อยละ 78.64) ระดับชั้น ป.1-ป.3 จำนวน 14,585 คน (ร้อยละ 10.44) ระดับชั้น ป.4-ป.6 จำนวน 3,599 คน (ร้อยละ 2.58) ระดับชั้น ม.1-ม.3 จำนวน 6,823 คน (ร้อยละ 4.88) และระดับชั้น ม.4-ม.6 รวม 4,833 คน (ร้อยละ 3.46) 

 

“กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับนโยบายThailand Zero Dropout เป็นอย่างมาก มีการประชุมความคืบหน้าเรื่องนี้ทุกสัปดาห์ โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั่งเป็นประธานคณะทำงานเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่มีคณะทำงานในระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัดสู่ตำบล จากหลากหลายกลุ่มและหลายระดับที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาจาก 25 จังหวัด ที่จะเป็นกลุ่มแรกเริ่มต้นกระบวนการคันหา คัดกรอง เตรียมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับเด็กและเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สร้างการเรียนรู้หรือการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ให้กลับเป็นพลเมืองที่เพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองและสังคม หากเราสามารถดึงเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 ของ GDP อันเนื่องมาจากรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังสามารถป้องกันปัญหาสังคมและอาชญากรรมอันเป็นผลพวงมาจากความยากจนได้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ มี Roadmap บันได 5 ขั้นในการทำงาน ได้แก่ ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 การสำรวจข้อมูลเด็ก Dropout เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายบุคคล และพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บันไดขั้นที่ 2 การติดตามช่วยเหลือเด็ก Dropout ได้เป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือของสหวิชาชีพ บันไดขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต โดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ รองรับบันไดขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา ตามแนวคิด All for Education ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ บันไดขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินงานของบันไดขั้นแรก ในปี 2567 นี้จะเริ่มจาก 25 จังหวัดแรกที่มีประสบการณ์ดำเนินงานตามแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของ กสศ. และโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 เรื่อง  คือ   1.เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางและมาตการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้กับหน่วยงานระดับพื้นที่ 2. เพื่อแนะนำการใช้งานระบบสารสนเทศ เครื่องมือ และกระบวนการ สนับสนุนหน่วยงานระดับพื้นที่ใช้ดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ 3. ร่วมกันจัดทำร่างแผนการดำเนินงานระยะ  6 เดือนแรกของจังหวัด

“หลังการประชุมปฏิบัติการนี้ ทั้ง 25 จังหวัด จะเกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ในระดับจังหวัด และตำบล มีการปฏิบัติการค้นหา ส่งต่อ และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย และการดำเนินการอื่น ๆ ตาม 4 มาตรการที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ หลังจากนั้นอีก 1 ปีให้หลังในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และ 11 หน่วยงานจะได้จัดทำข้อมูล เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง” ดร.ไกรยสกล่าว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง