รีเซต

'นฤมล'ล่องใต้ คุยมีทุน1แสนล. ตั้งสหกรณ์กลาง ลุยแก้ปัญหาหนี้ครู

'นฤมล'ล่องใต้ คุยมีทุน1แสนล. ตั้งสหกรณ์กลาง ลุยแก้ปัญหาหนี้ครู
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2568 ( 09:22 )
12
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ประชุมตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมธัชมุนี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายวิทยา เขียวรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ,นายณัฐวุฒิ รัตนอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู นักเรียน และ สส.พรรคกล้าธรรมอาทิ นายก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ส.ส. เขต8 นครศรีธรรมราช นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อให้การต้อนรับศ.ดร.นฤมล กล่าวตอนหนึ่งว่า ก่อนจะจัดทำนโยบาย ต้องการที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจะได้ร่างนโยบายมาจากความต้องการพัฒนาการศึกษาจริง ๆ จากทุกภาคส่วน โดยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนและพัฒนางานด้านการศึกษา 4 เรื่องหลักดังที่เคยกล่าวไปแล้ว ทั้งในส่วนของการปรับให้วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมือง เป็นวิชาหลักและจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจหน้าที่ตัวเอง ในระบอบปกครองของประเทศ ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ให้ครูได้มีเวลาพัฒนางานของตนเอง และมุ่งสอนลูกศิษย์ให้มากยิ่งขึ้น“ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขณะนี้กำลังเดินหน้าหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และลดดอกเบี้ย เพื่อให้ครูมีสภาพคล่องมากขึ้น แต่จะต้องมีเงื่อนไขกับครูข้อหนึ่งว่า จะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มอีก มิเช่นนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะไม่ตรงจุด ในขณะเดียวกัน ก็จะปรับปรุงระบบสวัสดิการของครู เช่นค่าที่พักอาศัย ค่าเบี้ยเลี้ยง ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้ครูมีรายได้เพิ่ม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข”ศ.ดร.นฤมล กล่าว 

ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวต่อว่า วิทยฐานะถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กร แม้ระบบการประเมิน ในปัจจุบันจะมีข้อดี ที่มีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีเสียงสะท้อนออกมาว่า มีผู้ผ่านการประเมินน้อยลง ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การประเมินวิทยฐานะง่ายขึ้น แต่อยากให้ผู้ที่เข้ามาประเมินวิทยฐานะครู และบุคลากรทางการศึกษามีความเข้าใจงานด้านการศึกษาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ ก.ค.ศ. ก็รับโจทก์ไปดำเนินการ เพราะการที่ครูมีวิทยฐานะสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจแต่หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การลดภาระเรื่องของค่าครองชีพ 

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ปัจจุบันมีหนี้อยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่ยังเป็นข้าราชการประจำการ และผู้ที่เกษียณอายุราขการไปแล้ว ซึ่งตนได้มีการหารือกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการก่อตั้ง สหกรณ์กลางให้ครู ที่เป็นหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ สมัครใจจะแก้หนี้  โอนหนี้เข้ามาที่สหกรณ์กลาง ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นที่ 0% ปีที่ 2 ขยับขึ้นตามขั้น บันได แต่จบที่ไม่เกิน 4.5% ก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระครู ซึ่งปัจจุบันครูจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.5% โดยมีเงื่อนไขว่าครูจะต้องไม่ไปก่อหนี้ที่ไหนอีก ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มสวัสดิการทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ให้ครูด้วย มิฉะนั้นไม่ว่าจะแยกหนี้อย่างไร ก็ไม่พอต่อการครองชีพหรือคุณภาพชีวิตครูให้ดีขึ้น


“วันที่ 22 ก.ค.นี้ ดิฉันจะหารือกับ สกสค.,กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ สกสค. สามารถจัดตั้งสหกรณ์กลางได้ ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุนก็ไม่มีปัญหา เพราะได้เจรจาเป็นการภายในกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินทุนก้อนแรก ประมาณ 1 แสนล้านบาท มาตั้งธนาคารกลางมาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครู ที่มีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ กว่า 9 แสนล้านบาท และถ้ามีความต้องการจนเต็ม 1 แสนล้านบาท คิดว่าจะขอความกรุณาจากรัฐบาล นำเงินทุนที่ไม่ใช่แบงก์ของรัฐ แต่เป็นเงินจากกองทุนที่มีอยู่ของรัฐบาล เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็ดบำนาญข้าราชการ(กบข.) มาช่วย แต่ก็ต้องไปดูระเบียบข้อบังคับ ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 3 เดือนนี้ น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมและประกาศให้ครูลงทะเบียนได้”


นอกจากนี้ ศ.ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมเด็กนักเรียน ทุกคนมีความสามารถและมีความภาคภูมิใจในการเป็นนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้ เห็นได้จากสายตาของนักเรียนที่นำเสนอสผลงานต่าง ๆ พร้อมขอบคุณผู้บริหาร คณะครู ที่มาร่วมประชุม ณ ที่นี้ หากใครมีข้อเสนอแนะดี ๆ สามารถส่งมาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ เพื่อรวบรวม สรุป และกลั่นกรองแต่ละเรื่อง นำไปสู่การขับเคลื่อนผลักดันและปฏิรูปการศึกษาของนครศรีธรรมราช ทั้งในส่วนของประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และอื่น ๆ ต่อไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง