รีเซต

กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตอนบนลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม เตรียมรับมือฝนใต้อีกเดือนเศษ

กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตอนบนลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม เตรียมรับมือฝนใต้อีกเดือนเศษ
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 16:28 )
39
กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตอนบนลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม เตรียมรับมือฝนใต้อีกเดือนเศษ

กรมชลประทาน จับตาสถานการณ์น้ำตอนบนอย่างใกล้ชิด จัดจราจรทางน้ำบริหารจัดการน้ำหลาก บรรเทาผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม ควบคู่เก็บกักน้ำฝนอีกเดือนเศษๆให้ได้มากที่สุด พร้อมสั่งการชลประทานภาคใต้ เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในระยะต่อไป

 

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 20 ก.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 45,355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 21,424 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีก 30,717 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,475 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,779 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,396 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 15.01 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ปัจจุบัน(20 ก.ย. 64)เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด จึงให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำหลาก เตรียมพื้นที่ก่อนการรับน้ำเข้าทุ่งในระยะต่อไป

 

 

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 20 -24 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงได้เน้นย้ำ โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

 

 

และทั่วถึง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียง ภาคกลาง และภาคตะวันออกแล้ว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง หนอง บึงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนในอีกประมาณ 1 เดือนเศษ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากตามมาตราการที่กรมฯได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดต่อไปแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง