ผู้ผ่อนรถได้เฮ! 'ส่วนลดดอกเบี้ย' หากปิดบัญชีแบบขั้นบันได เริ่ม 10 มกราคม 2566
ผู้ผ่อนรถ ได้เพดานดอกเบี้ยเป็นธรรม และ 'ส่วนลดดอกเบี้ย' หากปิดบัญชีแบบขั้นบันได พร้อมปรับปรุงกฎหมายหุ้นส่วน-บริษัท ให้ทันสมัย
วันที่ 3 มกราคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกฎหมายใหม่เพื่อประชาชนที่จะมีผลบังคับใช้ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 นี้ คือ เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 และในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ประกอบการและผู้ทำธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ว่าด้วยเรื่องหุ้นส่วนบริษัท
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ ประชาชนที่เช่าซื้อยานพาหนะต่างๆ จะได้รับการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกว่าเดิม ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate โดยเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด สำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และยังให้มีการพิจารณาปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 3 ปีเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย
2. มีส่วนลดดอกเบี้ยกรณีผู้เช่าซื้อจะปิดบัญชีชำระค่างวดก่อนครบสัญญาเป็นขั้นบันได คือ กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 60%, กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 70% และกรณีชำระค่างวดเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อทั้ง 100% หรือไม่คิดดอกเบี้ย
3. เงินส่วนต่างกรณีเลิกสัญญาและยึดรถให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้ (จากเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ ทำให้เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ)
4. เบี้ยปรับจะคิดได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้ (จากเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ)
5. ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ขาดอยู่ (ติ่งหนี้) ในกรณีนำรถถูกยึดออกขายทอดตลาดเฉพาะค่างวดที่ขาดเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดได้ (เดิมต้องรับผิดชอบค่างวดที่ค้างอยู่ตามสัญญาประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ) และถ้าจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดกับจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระไปแล้วสูงกว่ามูลหนี้ตามสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนส่วนที่เกินให้ผู้เช่าซื้อ
สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้ประกอบการและผู้ทำธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ว่าด้วยเรื่องหุ้นส่วนบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เหมาะกับปัจจุบันที่มีการติดต่อสื่อสารง่ายดายเพราะการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เป็นระบบในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทเหลือเพียงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จากเดิมตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปที่บังคับใช้มา 1 ปี นับแต่ปี 2551
2. การประชุมกรรมการสามารถดำเนินการโดยการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกรรมการไม่ต้องปรากฏตัวในที่ประชุม และให้นับเป็นองค์ประชุมและมีสิทธิออกเสียงในการประชุม
3. คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือสามารถโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงได้
"การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นแนวทางที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและติดตามให้มีการดำเนินการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคม" น.ส.ทิพานัน กล่าว
ข้อมูล รัฐบาลไทย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<