ซูเปอร์หนอนกินพลาสติกเป็นอาหารหนทางใหม่ในการรีไซเคิล
นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบซูเปอร์หนอน (Superworms) สายพันธุ์โซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) สามารถกินพลาสติกเป็นอาหารและมีชีวิตอยู่โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารชนิดอื่น การค้นพบดังกล่าวอาจปูทางไปสู่วิธีการกำจัดขยะพลาสติกรูปแบบใหม่ได้ในอนาคต
หนอนสายพันธุ์โซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) เป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ลักษณะภายนอกมีขนาดใหญ่ทำให้ถูกเรียกว่าซูเปอร์หนอน (Superworms) ด้วยลักษณะดังกล่าวผสมกับช่วงอายุที่สั้นทำให้หนอนสายพันธุ์นี้ถูกเลือกนำมาใช้ในการทดสอบ
สำหรับการทดลองนักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาสังเกตการณ์ 3 สัปดาห์ โดยแบ่งหนอนออกเป็น 3 กลุ่ม กินอาหารที่แตกต่างกัน โดยมีหนอน 2 กลุ่ม กินอาหารปกติตามธรรมชาติและหนอน 1 กลุ่ม กินพลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene) เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว
ผลการทดลองพบว่านอนกลุ่มที่กินพลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene) เป็นอาหารมีน้ำหนักของร่างกายเพิ่มมากขึ้น แต่พบว่าพลาสติกมีผลต่อสุขภาพของหนอนด้วยเช่นกัน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่หนอนจะใช้เอนไซม์ในลำไส้ของพวกมันเป็นตัวย่อยสลายพลาสติกโพลีสไตรีนเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับหนอนดำรงชีวิตมาตลอด 3 สัปดาห์ของการทดลอง
"เราพบว่าซูเปอร์หนอนที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีเพียงแค่พอลิสไตรีนไม่เพียงแต่รอดชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอีกด้วย" ดร.คริส รินเกะ (Dr Chris Rinke) หัวหน้าทีมงานวิจัย
นอกจากการทดลองให้หนอนสายพันธุ์โซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) กินพลาสติกเป็นอาหาร นักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำการทดลองในหลอดทดลองเรียกว่าเมทาโนมิกส์ (Metagenomics) ทำให้สามารถระบุเอนไซม์ในแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ย่อยพลาสติกโพลีสไตรีนได้ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการย่อยพลาสติกเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานของหนอนมากขึ้น
ทีมงานหวังว่าการค้นพบในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาวิธีการย่อยสลายพลาสติกให้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ซูเปอร์เอ็นไซม์ (Super-Enzymes) เป็นส่วนผสมของพลาสติกเพื่อให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้รวดเร็วตามธรรมชาติหรือกระบวนการย่อยสลายพลาสติกในโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งอาจสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ uq.edu.au