หมอธีระเผยยังไม่ยังแน่ชัดติดโอมิครอนมีโอกาสเกิด“Long COVID”มาก-น้อยเท่าใด
วันนี้ ( 1 พ.ค. 65 )รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่าวันแรงงานแห่งชาติ...หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง มีกระบวนการทำงานที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงของสภาพแวดล้อม
เป็นสามปัจจัยหลัก ที่จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถช่วยกันดำเนินกิจการทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ไปได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่รุมเร้าหนักหน่วง
3,613,348 คน...คือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง RT-PCR และ ATK นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันนี้ โดยมีชีวิตที่สูญเสียไปถึง 6,919 คน
ในขณะที่ในรอบสองปี ตั้งแต่ 2563-2564 ที่ผ่านมา มีคนติดเชื้อรวม ATK ไปราว 2.6 ล้านคน เสียชีวิตไป 21,698 คน
รวมแล้วการติดเชื้อ (รวม ATK) ตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงปัจจุบันอาจสูงกว่า 6.2 ล้าน และเสียชีวิตไปเกือบ 3 หมื่นคน
ปัจจุบันเรายังไม่ทราบจริงๆ ว่า การติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron (ระลอกสี่) ในปีนี้นั้นจะมีโอกาสเกิด Long COVID สูงกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม (ระลอกแรก) สายพันธุ์ G (ระลอกสอง) สายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์เดลต้า (ระลอกสาม)
โอกาสเกิดภาวะ Long COVID 20-40% จากระลอกก่อนๆ จึงนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเพราะจะทำให้มีผู้ป่วยสูงหลักล้านคน ที่จะประสบปัญหาระยะยาวที่บั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
แม้เคยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้ราว 41% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ใช้ แต่มีงานวิจัยในระยะหลังที่ได้ผลมาหักล้าง โดยชี้ให้เห็นว่าการฉีดหรือไม่ฉีดนั้นก็มีอัตราการเกิด Long COVID ไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรประมาท และต้องติดตามความรู้เรื่องนี้ให้ตกตะกอนชัดเจนมากขึ้น
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อจึงสำคัญมาก
ทั้งสำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการต่างๆ ด้วย
...ใส่หน้ากากเสมอ หมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง ปรับวิธีทำงานให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในสภาวะแวดล้อม...
ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
ภาพจาก : AFP