รีเซต

“ยาฆ่าแมลง” อาจเป็นสาเหตุ ? สร้างโรคระบาดในค้างคาว และทำทารกเสียชีวิต

“ยาฆ่าแมลง” อาจเป็นสาเหตุ ? สร้างโรคระบาดในค้างคาว และทำทารกเสียชีวิต
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2567 ( 14:44 )
27

การศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยชิคาโกพบจำนวนค้างค้างคาวในอเมริกาเหนือลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้น และนักวิจัยยังตั้งข้อสันนิษฐานว่าปัจจัยนี้อาจเกี่ยวข้อง หรือส่งผลกับอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยพันกว่าคน ซึ่งอาจจะมาจากผลกระทบของการปนเปื้อนของน้ำและอากาศ 


ข้อมูลนี้เป็นหนึ่งในผลการวิจัยของ เอียล แฟรงก์ (Eyal Frank) นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่ได้ทำการตรวจสอบค้างคาวที่ตายจาก “โรคจมูกขาว” หรือ White-nose syndrome (WNS) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับเชื้อรา ที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2006 


โรคจมูกขาวทำให้ค้างคาวไม่สามารถจำศีลในฤดูหนาวได้ และต้องอดตายเพราะไม่สามารถหาอาหารในช่วงเวลาดังกล่าวได้ รวมถึงการทำให้ตัวเองรู้สึกอบอุ่น ก็ส่งผลให้ค้างคาวหมดแรงอีกด้วย


การสูญเสียค้างคาวไปหลายล้านตัวทำให้ระบบนิเวศเสียหาย และทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมายตามมา ในรูปแบบที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้อย่างทันท่วงที


จากการติดตามการการแพร่กระจายของโรคจมูกขาวในภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และเปรียบเทียบการใช้ยาฆ่าแมลงในเขตที่ได้รับผลกระทบ กับเขตที่ไม่ได้รับผลกระทบ พบว่ามีการใช้ “ยาฆ่าแมลง” เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ซึ่งตรงกับในช่วงที่ค้างคาวมีจำนวนลดลง รวมถึงนักวิจัยยังพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกเสียพิ่มขึ้นร้อยละ 8 หรือเป็นจำนวน 1,334 ราย นับตั้งแต่ที่โรคจมูกขาวระบาดในค้างคาว โดยนักวิจัยคาดว่าน้ำและอากาศที่ปนเปื้อน อาจเป็นช่องทางให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์


อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในข้อสันนิษฐานของนักวิจัยเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มีผลเชื่อมโยงกันหรือไม่ 


ทั้งนี้ในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคจมูกขาวขึ้น แต่นอกจากโรคของตัวค้างคาวแล้ว พวกมันก็กำลังเจอปัญหาอื่น ๆ อยู่ด้วย นั่นก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และจากฟาร์มกังหันลม


นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา และมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวว่า “การหยุดยั้งวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาประโยชน์มากมายที่ระบบนิเวศมอบให้ ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้โดยง่าย หรือบางทีอาจไม่มีวันทดแทนได้”


งานวิจัยของ เอียล แฟรงก์ ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Science เพื่อนำเสนอหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสนับสนุนว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกที่กำลังลดลง นั้นส่งผลร้ายแรงต่อมนุษย์เช่นกัน แต่ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้สารเคมี การเกิดโรคระบาดในค้างคาว จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ยังคงอยู่ในการศึกษาวิจัยต่อไป 


แหล่งที่มา :japannews.yomiuri.co.jp

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง