เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอลิส (Alice) ทดสอบความเร็วสูงบนรันเวย์เป็นครั้งแรก
บริษัท อีวิเอชัน (Eviation) บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศอิสราเอลประสบความสำเร็จในการนำเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอลิส (Alice) มาทำการทดสอบขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงบนรันเวย์เป็นครั้งแรก เครื่องบินยังไม่ถูกควบคุมให้บินขึ้นสู่ท้องฟ้า การทดสอบบินขึ้นสู่ท้องฟ้าจะเป็นกระบวนการทดสอบในลำดับถัดไปที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการพัฒนาเครื่องบินและอากาศยาน
เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอลิส (Alice) เปิดตัวแนวคิดและแผนการพัฒนาเครื่องต้นแบบครั้งแรกในงาน Paris Air Show ในปี 2019 โดยบริษัทมีการวิจัยพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนการทดสอบความเร็วสูงบนรันเวย์ เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า MagniX ขนาด 640 กิโลวัตต์ พร้อมใบพัด 2 ชุด ด้านข้างซ้ายและขวาช่วงท้ายของเครื่องบิน
บริษัทยืนยันว่าเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอลิส (Alice) หากถูกพัฒนาและทดสอบเสร็จสมบูรณ์จะมีโครงสร้างวงปีกกว้าง 18 เมตร ความยาวลำตัวเครื่องบิน 17 เมตร รองรับผู้โดยสาร 9 ที่นั่ง เพดานบินสูงสุด 32,000 ฟุตหรือประมาณ 9.75 กิโลเมตร พิสัยการบินได้มากถึง 814 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 407 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกสัมภาระน้ำหนักรวมกัน 1,130 กิโลกรัม พร้อมผู้โดยสารสูงสุด 9 ที่นั่ง พร้อมลูกเรือ 2 คน
สำหรับเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอลิส (Alice) ที่ใช้ในการทดสอบเปิดตัวครั้งแรกในปี 2021 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลากว่า 3 ปี ตามแผนการของบริษัท การทดสอบบนรันเวย์ในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ เครื่องบินสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงและยกล้อด้านหน้าของเครื่องบินขึ้นเล็กน้อยเพื่อทดสอบระบบขับเคลื่อน เครื่องบินยังไม่ถูกควบคุมให้บินขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นเครื่องบินเคลื่อนที่เข้าสู่โรงเก็บเครื่องบินเพื่อประเมินผลการทดสอบและเก็บข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ
บริษัท อีวิเอชัน (Eviation) แม้จะก่อตั้งในประเทศอิสราเอลแต่ปัจจุบันได้ย้ายสำนักงานมายังประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทอ้างว่ามียอดสั่งจองเครื่องบินพลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้แล้วกว่า 150 ลำ โดยมีลูกค้าหลักเป็นมหาเศรษฐีในหลายประเทศ และสายการบินเอกชนในนครนิวยอร์ก และนิวอิงแลนด์ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้ายังคงมีความท้าทายในด้านของวิศวกรรมและระยะทางการบิน เนื่องจากขนาดของแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าที่ต้องเพิ่มขึ้นและยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับเครื่องบิน ปัจจุบันจึงมักพบเห็นการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กและบรรทุกผู้โดยสารได้ในจำนวนไม่มากนัก
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ Twitter.com/EviationAero