รีเซต

เปิด 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ลวงลงทุนหารายได้เสริม-หลอกให้รัก

เปิด 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ลวงลงทุนหารายได้เสริม-หลอกให้รัก
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2567 ( 12:15 )
45
เปิด 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ลวงลงทุนหารายได้เสริม-หลอกให้รัก

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 27-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย


คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 60,000 บาท ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาเชิญชวนไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ผ่านช่องทาง Facebook ปลอม ชื่อเพจ บริษัท บิสโก้ จำกัด จึงเกิดความสนใจได้ทักไปสอบถามพูดคุยรายละเอียด และได้ตกลงกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและส่งเอกสารสำคัญต่าง ๆ ต่อมาให้โอนเงินค่าเอกสาร และค่าดำเนินการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจึงทราบว่าเพจดังกล่าวเป็นเพจปลอม ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

           

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 200,665 บาท โดยผู้เสียหายเคยแจ้งความออนไลน์ผ่านช่องทางเพจ Facebook ปลอม ต่อมาภายหลัง มิจฉาชีพติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำเงินที่ถูกหลอกไป คืนกลับมา โดยให้ผู้เสียหายทำการเพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line จากนั้นมีการพูดคุยแจ้งว่า ต้องเสียค่าธรรมเนียมเอกสาร และชำระค่าภาษีให้ทางทีมทนายในการดำเนินคดีติดตาม โดยให้โอนเงินเพิ่มมากขึ้น ต่อมาภายหลังทราบว่าเป็นเพจปลอมถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 659,876 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณารับสมัครงานหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook จึงติดต่อพูดคุย แล้วเพิ่มเพื่อนช่องทาง Line มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นลักษณะงานกดถูกใจเพจสินค้า และจะได้รับค่าคอมมิชชัน โดยให้ผู้เสียหายสมัครและโอนเงินลงทุนเข้าไปในระบบเพื่อเข้าร่วมภารกิจ ในระยะแรกการลงทุนเงินไม่มากได้ผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังให้ลงทุนเงิน เพิ่มมากขึ้นและอ้างว่าทำภารกิจไม่สำเร็จจึงไม่ได้รับผลตอบแทน ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 100,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินด่วนทันใจผ่านช่องทาง Facebook เพจปลอม บริษัทแห่งหนึ่ง จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย จากนั้นมิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนผ่านทาง Line อ้างตนว่าเป็นแผนกสินเชื่อของทางบริษัท ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และกรอกยื่นขอสินเชื่อ จากนั้นให้ผู้เสียหายโอนเงิน ทางบริษัทขอตรวจสอบรายการเดินบัญชีธนาคาร (Statement) ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 5 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 85,000 บาท ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ได้พูดคุยจนสนิทใจและได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพอ้างว่าอยู่ต่างประเทศกำลังจะกลับมาใช้ชีวิตกับผู้เสียหายที่เมืองไทย จึงส่งพัสดุของฝากจากต่างประเทศมาให้แต่ต้องชำระค่าภาษีนำเข้า โดยทางมิจฉาชีพจะช่วย ชำระให้ครึ่งหนึ่ง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนชำระค่าภาษีไปให้ ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

                

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,105,541 บาท

 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่  28 มิถุนายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

 

1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 787,732 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,269 สาย

 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 209,823 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,054 บัญชี

 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ 

(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 63,666 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.34 

(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 49,100 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.40 

(3) หลอกลวงลงทุน 36,108 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.21 

(4) หลอกลวงให้กู้เงิน 16,367 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.80 

(5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 14,814 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.06 

(และคดีอื่นๆ 29,768 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.19)

 

จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้อ้างหลอกลวงเพื่อหางานทำ หรือหารายได้เสริม รวมทั้งการหลอกลวงให้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนใช้อุบายหลอกลวงให้ติดตั้งแพลตฟอร์มโอนเงิน หรือกรอกยืนยันข้อมูลส่วนตัว ก่อนที่จะโอนเงินของผู้เสียหายออกไปจากบัญชี ขณะที่บางเคส เป็นการหลอกลวงกู้เงิน และหลอกลวงให้รัก 


ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดในแน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบผ่านโทรสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามข้อมูลกับทางธนาคาร ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ 


อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

 

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441



ภาพ AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง