รีเซต

#แบนเกาหลี กลับมาติดเทรนด์! ถอดรหัสสาเหตุคนไทยไม่ไปเกาหลี

#แบนเกาหลี กลับมาติดเทรนด์! ถอดรหัสสาเหตุคนไทยไม่ไปเกาหลี
TNN ช่อง16
20 มิถุนายน 2567 ( 08:59 )
111
#แบนเกาหลี กลับมาติดเทรนด์! ถอดรหัสสาเหตุคนไทยไม่ไปเกาหลี

"แบนเกาหลี" ปมปัญหานักท่องเที่ยวไทยลดฮวบและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกาหลีใต้


เกาหลีใต้ ดินแดนที่เคยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อสถิติล่าสุดจากองค์การการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน พ.ศ. 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลงถึง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากความเข้มงวดของการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และระบบ Korea Electronic Travel Authorization (K-ETA) ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ แม้จะผ่านการอนุมัติ K-ETA แล้วก็ตาม 


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงของนักท่องเที่ยวไทย


1. ความเข้มงวดของ ตม. และระบบ K-ETA แม้ระบบ K-ETA จะถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวไทย การถูกปฏิเสธเข้าประเทศแม้ได้รับการอนุมัติ K-ETA แล้ว ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการเดินทาง 


2. กระแส #แบนเกาหลี  เมื่อมีข่าวคนไทยถูกปฏิเสธเข้าประเทศบ่อยครั้ง เกิดเป็นกระแส #แบนเกาหลี ในโลกออนไลน์ สะท้อนความไม่พอใจและความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวไทยต่อการเดินทางไปเกาหลีใต้


3. ทางเลือกที่หลากหลาย เมื่อประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นและจีน เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นและผ่อนคลายมาตรการลง นักท่องเที่ยวไทยจึงมีทางเลือกที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น


การเดินทางเข้าประเทศเกาหลีไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆก็รู้


ต้องยอมรับว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีซอฟพาวเวอร์ที่เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไม่ว่าจะเป็น วงการศิลปินไอดอล ที่เป็นซอฟพาวเวอร์หลักที่ทำให้คนอยากไปมีตติ้งกระทบไหล่ดารา ไปงานคอนเสิร์ต ไปตามรอยซีรีส์ดัง นอกจากนี้ประเทศโสมแดงเองยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้างที่ดึงดูดชวนให้ต้องลองไปสักครั้ง นอกจากนี้ในช่วงหลังมานี้วงการธุรกิจความสวยความงามก็เปิดกว้างมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับจนใครหลายคนอยากจะไปเสริมสวยสักครั้งในชีวิต


แต่การเดินทาง ไปเที่ยวเกาหลีใต้ก็เป็นที่กล่าวขานกันต่อๆมาว่าใครผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ถือว่าโชคดี ซึ่งผู้ที่จะเดินทางไปเกาหลี ใต้สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดที่ต้องมีห้ามขาด คือ เรื่องเอกสารหลักฐาน พาสปอร์ต แผนการท่องเที่ยว รายละเอียดการจองที่พัก การจองท่องเที่ยว และ K-ETA (Korea electronic travel authorization) หรือ ระบบคัดกรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้ สำหรับประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า




แต่นอกจากเรื่องพื้นฐานที่หลายประเทศก็มีระเบียบคล้ายๆกัน ผู้ที่เดินทางเข้าเกาหลี เป็นที่รู้กันว่าจะต้องมีการซักซ้อมการตอบคำถามให้แม่นยำมากที่สุดถึงจะได้รับอนุญาต ประการแรกจะต้องสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ในขั้นพื้นฐาน ต้องตอบคำถามเบื้องต้นได้ว่าไปเที่ยวที่ไหน มากับใคร มากี่วัน พักที่ใด ซึ่งการตอบจะต้องเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่รีบร้อน ใจเย็น ต้องผ่อนคลายให้มากที่สุด


นอกจากนี้เรื่องการแต่งตัวก็เป็นส่วนสำคัญมากที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาบุคคลนั้น จะต้องแต่งตัวให้พอดีไม่เวอร์เกินไปในส่วนนี้เคย มีผู้ออกมาเปิดเผยว่าการจะผ่านด่านตม.เกาหลีได้ห้ามใส่รองเท้าแตะหรือชุดลำลอง แต่ก็ห้ามใส่เสื้อแจ็คเก็ตยีนส์ห้ามแต่งชุดนอน การแต่งหน้าของผู้หญิงไม่ควรแต่งหน้าจัดเกินไปหรือแต่งกายโชว์เนื้อหนัง








ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกาหลีใต้


การลดลงของนักท่องเที่ยวไทยส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลอดภาษี ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบในเชิงลบเช่นกัน


ความพยายามของเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว


เพื่อแก้ไขสถานการณ์ เกาหลีใต้เตรียมออก "Hallyu Visa" หรือวีซ่ากระแสเกาหลี สำหรับผู้ที่ชื่นชอบ K-Pop และวัฒนธรรมเกาหลี โดยอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้นานถึง 2 ปี แต่ต้องผ่านการคัดเลือกจากสถาบันศิลปะการแสดงในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงใด


บาดแผลจากแรงงานไทย อาจเป็นฉนวนในการผ่านด่าน ตม. เกาหลี


ในทุกครั้งที่มีการพูดประเด็นการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้หนึ่งปัจจัยที่คนมักจะหยิบยกขึ้นมาพูดก็คือปัญหาเรื่องแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “ผีน้อย”


ซึ่งที่มาของคำว่า "ผีน้อย" อาจสามารถอุปทานได้ว่าเวลาเราใช้คำว่าผี คือการสื่อถึงการทำผิดกฎเกณฑ์ หรือทำผิดกฏหมาย ต่อมาคนไทยกันเองก็เข้าใจว่าผู้ที่เดินทางไปทำงานที่เกาหลีอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับการคุ้มครองก็ถูกเรียกว่า ผีน้อย


ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายหรือ "ผีน้อย" ในเกาหลีใต้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ตม. เข้มงวดกับนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น สถิติระบุว่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีผู้อพยพเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายสูงถึง 395,068 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคนไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีผู้อยู่อย่างผิดกฎหมายมากถึง 139,245 คน ปัญหานี้ทำให้คนไทยที่ต้องการไปท่องเที่ยวเกาหลีใต้อย่างสุจริต ต้องเผชิญอุปสรรคมากขึ้น


ทีมข่าว TNN Online ได้สรุปเหตุผลที่กลุ่มผีน้อยเลือกไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้ดังนี้ ประการแรกประเทศเกาหลีเองขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มักมักจะมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะค่านิยมของคนเกาหลีใต้นิยมกิจการที่มีเทคโนโลยีสูง และปฏิเสธงานประเภท “3D” งานยากลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานเสี่ยงอันตราย (Dangerous)





ประการที่สองคือค่าจ้างแรงงานในเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 


มีข้อมูลว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ในปี 2563 ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน คิดเป็นชั่วโมงละ 8,590 วอน ตีเป็นเงินไทยประมาณชั่วโมงละ 229 บาท ดังนั้นถ้าทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างเดือนละ ประมาณ 50,000 บาทซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมเงินตอบแทนพิเศษ 


ต้นทุนในการเดินทาง จากประเทศไทยไปเกาหลีถือว่าค่อนข้างต่ำการเดินทางสามารถบินตรงไปที่ประเทศเกาหลีได้โดยใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้เอกสารที่ยื่นมีเพียงพาสปอร์ตไม่ต้องขอวีซ่าพิเศษทำให้ กลุ่มผีน้อยเลือกเกาหลีเป็นจุดหมายในการไปขายแรงงานแม้จะมีกำแพงสำคัญคือกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการเข้าออกของประเทศเกาหลีใต้ พ.ศ. 2520 (Exit and Entry Control Act 1977) ที่ไม่อนุญาตให้คนงานต่างชาติทำงานในเกาหลีใต้ ยกเว้นงานพิเศษบางประเภท


ทั้งนี้รายงานของกระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ ระบุถึง สถิติของหน่วยบริการตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ยอดผู้อพยพเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งหมด 395,068 คน นับเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ของเกาหลี


ขณะที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่ามีจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย มีจำนวน 42,538 คน แต่มีผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย มากถึง 139,245 คน 



ทางแก้ที่ดีที่สุดคืออะไร ทางกลับบ้านของคนไทยในเกาหลีมีไหม


เหตุผลหลักที่คนไทยเลือกเดินทางไปทำงานที่เกาหลีคงหนีไม่พ้นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ประเทศเกาหลีเองกำหนดไว้สูงมากกว่าที่ประเทศไทย การทำงานที่เกาหลีเพียงหนึ่งเดือนสามารถทำให้พวกเขาส่งเงินกลับมาบ้านเกิดได้มากถึงเดือนละ 20,000 ถึง 30,000 บาท ถ้าหลังจากนี้รัฐบาลไทยปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เพิ่มสูงขึ้นเราเองก็เชื่อว่าแรงดึงดูดจากประเทศเกาหลีก็น่าจะลดลงไปตามธรรมชาติ


ขณะเดียวกันสำหรับผีน้อยที่อยากจะกลับบ้าน รัฐบาลไทยเองก็เปิดโอกาสโดยร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลี ดำเนินโครงการ “เดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจแบบพิเศษ” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พำนักแบบผิดกฎหมายรายงานตัวและกลับประเทศโดยสมัครใจ โดยสามารถไปแจ้งด้วยตัวเองได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ใดก็ได้ หรือแจ้งออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.hikorea.go.kr


แต่สำหรับใครที่กำลังมองช่องทางในการไปทำงานที่เกาหลีอย่างถูกกฎหมาย ปัจจุบันประเทศไทย มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยภาครัฐผ่านโครงการ EPS ปีละ 10,000 อัตรา ในงานอุตสาหกรรมการผลิต งานเกษตร/ปศุสัตว์ และงานก่อสร้าง และโดยภาคเอกชน จำนวน 5,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างสีพ่นทราย และกำลังเจรจาจัดส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาล 


ทางกรมการจัดหางานได้ให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ”ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application และ Mobile Application ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย


ไม่แน่ว่าหากปัญหาแรงงานผิดกฎหมายหรือผีน้อยหมดไปความตึงเครียดในการคัดกรองคนไทยเข้าประเทศเกาหลีใต้อาจจะได้รับการยืดหยุ่นมากกว่านี้ซึ่งนั่นเป็นผลดีที่ใครหลายคนจะมีโอกาสได้ไปเยือนดินแดนแห่งซอฟพาวเวอร์เดินตามรอยความฝันไปพบเจอสิ่งที่สวยงามที่อยู่ไม่ไกลประเทศไทย


บทสรุปสุดท้าย

ความเข้มงวดของ ตม. เกาหลีใต้ ระบบ K-ETA และปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวไทยลดลง 21% โดยกระแส #แบนเกาหลี สะท้อนความไม่พอใจและไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวไทย แม้เกาหลีใต้จะพยายามแก้ไขด้วยมาตรการต่าง ๆ แต่หากต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยกลับมา คงต้องทบทวนแนวทางการตรวจคนเข้าเมืองและแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจและทัศนคติที่ดีต่อการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยอีกครั้ง



เรียบเรียง : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการ TNN

ภาพ Getty Images 

อ้างอิง สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล / ประกาศกระทรวงแรงงาน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง