รีเซต

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ติดเชื้อโควิด-19

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ติดเชื้อโควิด-19
TNN ช่อง16
11 มีนาคม 2565 ( 14:32 )
164
ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ติดเชื้อโควิด-19

วันนี้ (11 มี.ค.65) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีข้อความในประเด็นเรื่องผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไม่ติดเชื้อโควิด 19 และดื่มทุกวันจะให้ผลดีกว่าการออกกำลังกาย 

ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลเท็จ"

จากกรณีที่มีการแนะนำระบุว่าข่าวจากโรงพยาบาลทั่วประเทศว่าไม่มีขี้เหล้าติดเชื้อโควิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันให้ผลดีกว่าการออกกำลังกาย ทางสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า คำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้นรวมไปถึงการติดเชื้อโควิด 19 ด้วย

ทั้งนี้ การรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังพบผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุรา ติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการถอนสุรารุนแรง ต้องสังเกตอาการใกล้ชิด

บางรายต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง พบมีความเสี่ยงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับคนไข้ที่ไม่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.pmnidat.go.th/thai/ หรือโทร. 0-2590-6000


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ และเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับคนไข้ที่ไม่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


ข้อมูลและภาพจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง