รีเซต

กาฬสินธุ์ผุด 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง

กาฬสินธุ์ผุด 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง
มติชน
17 สิงหาคม 2564 ( 14:11 )
89
กาฬสินธุ์ผุด 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่แปลงนานางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ กิจกรรมหลักปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย กิจกรรมย่อยจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อบาดาลเสริมระบบแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ

 

 

นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งตามข้อมูลสถิติในปี 2557 พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์ของจังหวัดค่าหัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

นายอัครพงษ์ กล่าวอีกว่า ข้าวเขาวง ซึ่งได้รับมาตรฐาน GI เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับทาง จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการกรีนมาร์เก็ต มุ่งเน้นผลผลิตจากภาคเกษตร อาหารปลอดภัย และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้เลือกพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวเขาวงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ เป็นจุดนำร่องของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดินฯ ดังกล่าว โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ เข้าร่วมโครงการ 60 ราย

 

 

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวเขาวง ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของชลประทาน การทำเกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมาย สำรวจความต้องการของเกษตรกร จากนั้นทำความเข้าใจและลงนามความร่วมมือ เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ เพื่อรองรับน้ำตามหลักการส่งน้ำจากฟ้าสู่ใต้ดิน และมีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งการดำเนินการได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เป็นการขุดและวางระบบน้ำให้ฟรี เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่อย่างใด

 

 

ขณะที่นางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำนา 13 ไร่ โดยที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวเขาวง บางปีที่ฝนทิ้งช่วง ประสบภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ขณะที่ในปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ก.ก.ต่อไร่

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมโครงการดังกล่าว ตนและเพื่อเกษตรกรมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่นำโครงการดีๆ มาถึงเกษตรกร สำหรับตนมั่นใจว่าต่อไปนี้จะไม่ประสบภัยแล้ง เพราะจะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดปี และได้ผลผลิตข้าวเขาวงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะสามารถกระจายน้ำไปสู่ที่นาของเพื่อนเกษตรและปลูกพืชผสมผสานชนิดอื่นได้ตลอดปีอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง