รีเซต

ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว

ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว
TNN ช่อง16
12 เมษายน 2567 ( 15:38 )
56

หน่วยงานวิจัยทางทะเลเขตร้อนของประเทศออสเตรเลีย หาวิธีสู้กับปัญหาปะการังฟอกขาว ด้วยการใช้โดรนเอไอสำรวจใต้น้ำ บริเวณแนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้


ภาพจากรอยเตอร์ 

 

โดรนลำนี้มีชื่อว่า ไฮดรัส (Hydrus) ซึ่งเป็นโดรนที่ช่วยให้ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (AIMS - Australian Institute of Marine Science) สามารถดำเนินการสำรวจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอและช่วยขยายขอบเขตการสำรวจให้กว้างขึ้น


โดยลำนี้สามารถทำงานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือระบบ GPS โดยมีระบบโซนาร์ และระบบนำทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้ระยะการทำงานไกลสุด 9 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกสูงสุด 3,000 เมตร และทำงานต่อเนื่องได้นานสูงสุด 3 ชั่วโมง โดยสามารถจับภาพวิดีโอความชัดระดับ 4k พร้อมการวิเคราะห์ในเวลาเดียวกัน


ทีมวิจัยกล่าวว่า ข้อดีของการใช้งานโดรนสำรวจก็คือ มันจะกลับไปถ่ายรูปยังตำแหน่งเดิมที่ต้องการสำรวจได้แม่นยำทุกครั้ง เมื่อเทียบกับการใช้ทีมดำน้ำที่เป็นมนุษย์ ที่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง และการใช้โดรนยังช่วยลดความเสี่ยงอันตรายของทีมนักดำน้ำได้ด้วย


ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังใช้โดรนลำนี้ ช่วยสร้างแผนที่ 3 มิติของแนวปะการังที่กำลังสำรวจอยู่ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในแนวปะการัง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตหรือการเสื่อมโทรม โดยภาพจากตัวโดรนทำให้ทีมวิจัยสามารถสร้างแฝดดิจิทัลของแนวปะการังได้ ช่วยให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างไรบ้าง


สำหรับแนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแนวปะการังที่ทอดยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย โดยพบเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่ 7 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1998 การฟอกขาวเกิดขึ้นจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ซึ่งทำให้ปะการังขับสาหร่ายสีสันสดใสที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมาและเปลี่ยนเป็นสีขาว ซึ่งปะการังฟอกขาวสามารถฟื้นตัวได้หากน้ำเย็นลง แต่หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังคงสูงอยู่เป็นเวลานาน ปะการังก็จะตาย


นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแนวปะการังจำนวนมากจะฟอกขาวในปีนี้ หลังจากที่ระดับความร้อนในมหาสมุทร ทำลายสถิติมานานหลายเดือน ซึ่งถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า โลกของเรา อาจสูญเสียปะการังได้ถึงร้อยละ 90 ภายในปี 2050 นี้



ข้อมูลจาก reutersconnect, artsandculturewwf.org.au

ข่าวที่เกี่ยวข้อง