รีเซต

เปิดภาพ ! กังหันลมจีนสุดแกร่ง ยืนต้านพายุยางิ แรงแค่ไหนก็ไม่ล้ม

เปิดภาพ ! กังหันลมจีนสุดแกร่ง ยืนต้านพายุยางิ แรงแค่ไหนก็ไม่ล้ม
TNN ช่อง16
10 กันยายน 2567 ( 14:15 )
25
เปิดภาพ ! กังหันลมจีนสุดแกร่ง ยืนต้านพายุยางิ แรงแค่ไหนก็ไม่ล้ม

บริษัทผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่สัญชาติจีนอย่าง หมิงหยาง สมาร์ต เอเนอร์จี (Minyang Smart Energy) ของจีน อ้างว่าแพลตฟอร์มแท่นกังหันลมลอยน้ำ โอเชียนเอ็กซ์ (OceanX) ของตน ซึ่งเป็นกังหันลมลอยน้ำใบพัดคู่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถยืนต้านทานความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นยักษ์ยางิได้ ซึ่งพายุยางินี้พัดถล่มด้วยความเร็วลมสูงสุดประมาณ 62 เมตรต่อวินาที หรือ 223.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการพิสูจน์ถึงเทคโนโลยีพลังงานลมนอกชายฝั่งที่เชื่อถือได้ ภายใต้สภาวะอากาศที่มีความรุนแรง 



ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมอื่น ๆ ในประเทศจีนได้รับผลกระทบจากพายุยางิจำนวนหนึ่ง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม เหวินฉาง (Wenchang Wind Power Plant) ในมณฑลไห่หนาย พบว่ากังหันลมอย่างน้อย 6 ตัวได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง 


สำหรับแพลตฟอร์มแท่นกังหันลมลอยน้ำ โอเชียนเอ็กซ์ (OceanX) บริษัท Minyang Smart Energy ได้ดำเนินการติดตั้งไปเมื่อเดือนเมษายน 2024 โดยติดตั้งที่ฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งในเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน



OceanX เป็นกังหันลมใบพัดคู่ เส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดอยู่ที่ใบละ 182 เมตร ตัวแท่นกังหันลมทั้งหมดมีน้ำหนักรวมกันแล้วราว 15,000 ตัน จุดกึ่งกลางของแท่นจะเป็นหอคอยที่ยกขึ้นมา แยกออกเป็น 2 เสา วางเฉียงในลักษณะรูปตัว ‘V’ โดยที่ปลายเสาแต่ละฝั่ง จะติดตั้งโรเตอร์ (Rotor) หรือส่วนประกอบของกังหันลมที่หมุนได้ โดยโรเตอร์แต่ละตัวจะผลิตไฟฟ้าได้ที่ 8.3 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกันแล้วจึงให้กำลังการผลิตได้ถึง 16.6 เมกะวัตต์ กำลังการผลิต 80,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายให้กับครัวเรือนที่มีสมาชิกประมาณ 3 คน ได้มากถึง 30,000 ครัวเรือนต่อปี แพลตฟอร์มนี้มีจุดประสงค์คือการเก็บเกี่ยวพลังงานจากมหาสมุทรลึก โดยสามารถติดตั้งห่างชายฝั่งได้ไกลประมาณ 100 กิโลเมตร และที่ระดับความลึกประมาณ 100 เมตร


ความกว้างของใบพัดกังหันลมของ OceanX กินพื้นที่ประมาณ 9 สนามฟุตบอล ซึ่งถือเป็นคู่แข่งกับบริษัทผู้ผลิตกังหันลมสัญชาติจีนอีก 2 บริษัท คือ โกลด์วิน (GoldWind) และ ซีเอสเอสซี (CSSC) รวมไปถึงบริษัทระดับโลกอย่างซีเมนส์ กาเมซา (Siemens Gamesa) ซึ่งบริษัทเหล่านี้ผลิตใบพัดกังหันลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 260 - 292 เมตร


สำหรับความแข็งแรงของ OceanX สร้างมาจาก คอนกรีตประสิทธิภาพสูงพิเศษ (Ultra-High Performance Concrete) ความทนทานเพิ่มขึ้นและประหยัดต้นทุนมากขึ้น มีการออกแบบมาให้มีฐานรับแยกออกเป็น 3 ส่วนเพื่อกระจายน้ำหนักของโครงสร้างกังหันลมและโครงสร้างอื่น ๆ มีเคเบิลแรงสูงยึดเสาที่แยกเป็นรูปตัว V รวมถึงใช้ระบบยึดสมอจุดเดียว (Single-Point Mooring System) ซึ่งเป็นระบบที่ในโครงสร้างนอกชายฝั่ง มีจุดยึดสมอเพียงจุดเดียว โครงสร้างลอยตัวสามารถหมุนได้รอบจุดยึดเดียว ซึ่งช่วยลดแรงต้านจากคลื่น ลม และกระแสน้ำ ทำให้โครงสร้างมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดี


ตามข้อมูลของบริษัทอ้างว่า แพลตฟอร์มนี้สามารถต้านทานพายุเฮอริเคนระดับ 5 ที่มีความเร็วลมสูงสุด 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางคลื่นสูง 30 เมตร การออกแบบของแพลตฟอร์มยังรองรับความเข้มข้นของความปั่นป่วน (Turbulence Intensity) ที่ 0.135 (เป็นการวัดความแปรผันของความเร็วลมเทียบกับความเร็วลมเฉลี่ยของสถานที่หนึ่ง ค่า 0.135 หมายถึงมีความปั่นป่วนในการไหลของลมในระดับปานกลาง) ดังนั้นแล้วความรุนแรงของพายุยางิ จึงเป็นอุปสรรคที่ยังไม่ก้าวผ่านขีดความแข็งแกร่งของ OceanX


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, TNN Thailand

ที่มารูปภาพ Mingyang Smart Energy

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง