รีเซต

ค่าแรงขั้นต่ำ 495 เป็นไปได้หรือไม่? “รมว.แรงงาน” ตอบชัดก่อนมีผล 1 ต.ค.นี้

ค่าแรงขั้นต่ำ 495 เป็นไปได้หรือไม่? “รมว.แรงงาน” ตอบชัดก่อนมีผล 1 ต.ค.นี้
TNN ช่อง16
14 สิงหาคม 2565 ( 13:43 )
190

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จะนำเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือนกันยายนให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จากเดิมจะให้มีผลบังคับต้นปี 2566 เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้เร็วขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวไปแล้ว และขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้


โดยได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ประชุมครบทุกจังหวัดแล้วและได้ตัวเลขมาหมดแล้ว จะต้องทำให้จบภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้นให้อยู่โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง


นอกจากนี้ ตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ5 ถึง ร้อยละ8 มีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ โดยเอาจีดีพีของแต่ละจังหวัดมาบวกลบคูณหารจะสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมแต่ละจังหวัดได้ในปริมาณเท่านี้


สำหรับการขึ้นค่าแรงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ค่าของชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พื้นที่จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่าด้วยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าเป็นเรื่องช่วงเวลา เพราะถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง อาจขึ้นค่าแรง 492 บาท  ตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว   จึงอยากเรียกร้องว่าไม่ควรเอาเรื่องขึ้นค่าแรงมาเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ 




ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกร้อยละ5 ถึง ร้อยละ 8 นั้นเชื่อว่าภาคเอกชนเองเห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว


ทั้งนี้คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานกลาง หรือ คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกรอบที่คาดการณ์กันว่าจะปรับประมาณร้อยละ5 ถึงร้อยละ 8นั้นน่าจะสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเชื่อว่าหากปรับค่าแรง แรงงานที่จะได้รับประมาณ5-8 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงบวก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 0.1 ถึงร้อยละ 0.2 โดยมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเดือนละ1,500-2,400 ล้านบาทหรือปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท




ภาพ TNNONLINE 

ภาพ ประกอบ กระทรวงแรงงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง