ควันหลงครม.สัญจรภูเก็ต ทำไม STV ไม่ปังอย่างที่คิด!
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรียกทีมไปจัดการประชุมครม.สัญจรที่จ.ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกมาอย่างยาวนานของไทย ที่ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงระบือไกลเพียงใดก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้การท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยซบเซา แม้จะมีการกำหนดให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดตลาดการท่องเที่ยวไทยอีกครั้งในช่วงปลายปี ที่ถือเป็นฤดูไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวทั่วโลกถึงขึ้นกำหนดเป็น “ภูเก็ตโมเดล” แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน เพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย
กระนั้นก็ดีช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงจะได้ยินข่าวเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามสื่ออยู่บ่อยๆ พร้อมกับได้ยินเรื่องวีซ่าพิเศษที่จัดมาให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงโควิดโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Special Tourist Visa (STV-เอสทีวี) วัตถุประสงค์ของวีซ่าประเภทนี้ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือการให้สิทธิพิเศษที่มากกว่าวีซ่าท่องเที่ยวปกติมีอายุการใช้งาน 3 เดือน และยังขยายเวลาพักอาศัยเพิ่มได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน แต่ใช้เดินทางได้ครั้งเดียว โดยมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงการต่างประเทศ เรียกได้ว่าชาวต่างชาติสามารถเที่ยวทั่วไทยวนไปยาวๆ ได้เลย ด้วยหวังว่ามาตรการวีซ่าประเภทนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยที่แทบจะล้มหายตายจากเพราะพิษโควิด กลับมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้คนไทยได้ร้องเฮที่จะได้ลืมตาอ้าปากกันอีกครั้ง
ก่อนจะฝากความหวังว่าไทยจะได้กลับมายืนหนึ่งเรื่องการท่องเที่ยวเป็นอเมซิ่งไทยแลนด์ เราน่าจะเหยียบเบรกหันมาทบทวนให้ละเอียดถึงปัจจัยรอบด้านรอบโลก อย่าเพิ่งรีบใส่เกียร์เร่งเรื่องการท่องเที่ยวในตอนนี้ ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลว่า ทำไมวีซ่าพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวเอสทีวีอาจไม่ปังอย่างที่คาด
เมื่อมองถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยตอนนี้ คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนเริ่มจะการ์ดตกกันบ้างแล้ว เพราะความรุนแรงของการระบาดไม่ได้หนักหนาเหมือนช่วงแรก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทาง การทำระบบ State Quarantine (เอสคิว) การคัดกรองที่รัดกุม และความเข้มข้นของรัฐบาล ระบบสาธารณสุขไทยระดับแนวหน้า และการร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทำให้ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืนแถวหน้าเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
อย่างไรก็ดี เราต้องไม่มองข้ามสถานการณ์รอบโลกที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่มีทีท่าว่าตัวเลขจะลดลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าจะทะลุ 50 ล้านคน ในเร็วๆ นี้ หลายประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยเฉพาะยุโรปที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ออกอาการย่ำแย่หลายประเทศ เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ทุกครอบครัวต้องรัดเข็มขัด หลายประเทศมีมาตรการห้ามและไม่สนับสนุนให้คนของตนเดินทางไปท่องเที่ยวเพราะจะมีภาระการดูแลหรือค่าใช้จ่ายในการกักกันตัวเมื่อเดินทางกลับ การท่องเที่ยวกลายเป็นความสำคัญลำดับท้ายๆ ที่คนทั่วไปจะนึกถึง ผนวกเข้ากับสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น การคิดจะทำโปรโมชั่นดึงดูดนักท่องเที่ยวสวนกระแสโลกจึงมาไม่ถูกที่ถูกเวลา
ว่าไปแล้ว สิ่งที่ไทยควรจะโฟกัสจริงๆ ในตอนนี้ น่าจะเป็นการฟื้นฟู กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม การผลิต การลงทุน หรือภาคเรียลเซ็กเตอร์ (real sector) โดยการสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทต่างๆ นำบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนักธุรกิจ นักลงทุน ที่มีศักยภาพเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะตอนนี้ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ดี จึงเป็นจุดแข็งที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่น พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเราลุกจากเตียงคนไข้ได้เร็วกว่าคนอื่น จึงถือว่าเป็นแต้มต่อที่สำคัญยิ่ง
นอกจากนี้ ในสภาวะการณ์เช่นนี้ ไทยควรพิจารณาให้ความสำคัญของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เพราะต้องอย่าลืมว่าการที่ไทยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี เราแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่แพงมาก ดังนั้นกลุ่มคนที่จะเดินทางเข้ามาได้จึงต้องเป็นพวกที่มีความสำคัญและจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่คิดจะพุ่งเป้าเอาแต่ยอดนักท่องเที่ยวแบบใครๆ ก็ได้มาเหมือนในอดีต
การศึกษาตลาดและฐานลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญในการคิดหรือออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรณีการจัดโปรเรียกนักท่องเที่ยวด้วยวีซ่าเอสทีวีต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน นั้น ควรจะต้องพิจารณาสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยว่า โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณกี่วัน มีสัดส่วนปริมาณเท่าไหร่ที่มักจะท่องเที่ยวยาวต่อเนื่อง 3-9 เดือน รวมถึงพิจารณาความพร้อมของนักท่องเที่ยวในการกักตัวตามมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะต้องมีรายได้ เพราะคนกลุ่มนี้หากเข้ามาพำนักระยะยาวควรมีหลักฐานแสดงการเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตในประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่พักอาศัยด้วย
ทีนี้ลองหันมาพิจารณาเงื่อนไขของประเภทวีซ่าเอสทีวีจะเห็นว่า สาระสำคัญไม่ได้แตกต่างจากวีซ่าที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ ให้สิทธิพิเศษการเข้าพักระยะยาวนักท่องเที่ยวลองสเตย์ ในขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเงื่อนไขคล้ายกับกลุ่มนักธุรกิจที่จะได้สิทธิพำนักหากเป็นเจ้าของอาคารชุด จะว่าไปแล้ววีซ่าที่มีอยู่เดิมสามารถรองรับวัตถุประสงค์ของชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยได้เหมือนกัน และมีข้อสังเกตว่า ชื่อวีซ่าพิเศษ Special Tourist Visa สื่อเป็นเรื่องท่องเที่ยว แต่เงื่อนไขกลับเป็นเรื่องของการลงทุนธุรกิจ จึงสร้างความสับสน
ปัจจุบัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เห็นชอบให้มีมาตรการผ่อนคลายด้านวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non Immigrant) ซึ่งรองรับกลุ่มชาวต่างชาติที่จะเข้ามาอยู่ในไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่หลายประเทศ ได้แก่
1. วีซ่าประเภท O-A สำหรับคนต่างชาติทุกสัญชาติที่อายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถอาศัยอยู่ในไทยได้ 1 ปี (ขยายเวลาต่อได้อีก 1 ปี)
2. วีซ่าประเภท O-X สำหรับชาวต่างชาติอายุ 50 ปี ขึ้นไป จากกลุ่ม 14 ประเทศ (ญี่ปุน ออสเตรเลีย เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐฯ) สามารถอาศัยในประเทศไทยได้ 5 ปี (ขยายเวลาต่อได้อีก 5 ปี)
3. วีซ่าประเภท B สำหรับผู้ติดต่อหรือดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน สามารถอยู่ในไทยได้ 90 วัน (ขยายเวลาต่อได้ 1 ปี) และวีซ่าสำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว
4. ผู้ถือบัตร APEC Card จาก 10 เขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ (นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เวียดนาม และไต้หวัน) ทั้งนี้ต้องมีสัญชาติจาก 10 เขตเศรษฐกิจ และเดินทางมาจากเขตเศรษฐกิจที่ตนเองมีสัญชาติ
5. วีซ่าประเภทท่องเที่ยว (TR) ประเภทปกติที่มีอยู่แล้ว สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะพำนักในไทยระยะสั้นและระยะยาว อยู่ในประเทศไทยได้ 60 วัน (ขยายเวลาต่อได้อีก 30 วัน) แต่ต้องแสดงหลักฐานบัญชีเงินฝาก 5 แสนบาทขึ้นไป (ย้อนหลัง 6 เดือน) เพื่อการันตีว่ามีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะใช้จ่ายเพียงพอในระหว่างอยู่ในประเทศไทย
แน่นอน เหรียญมี 2 ด้านเสมอ พอมีข่าวว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เราก็ได้ยินทั้งเสียงตอบรับที่ดี และกระแสความกังวลของคนในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญและสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องในชุมชน เพื่อการยอมรับอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เน้นการประชาสัมพันธ์โปรโมทเกินจริง จนเกิดความคาดหวังผิดๆ ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น นอกจากไม่ปังแล้ว ยังสร้างความแตกตื่นกลัวให้กับนักท่องเที่ยวไทยที่จะไปเที่ยวด้วย เพราะกลัวโรคโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ว่าไปแล้ว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้รับรู้และมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าหน่วยงานภาครัฐด้านท่องเที่ยวเสียอีก โดยจะเน้นกระตุ้นการเดินทางกลุ่มต่างชาติที่ทำงานและอาศัยอยู่ในไทยแทนที่จะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็น่าจะถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่มีแนวโน้มจะทุเลาลง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยบรรเทาและเพิ่มกำลังซื้อเพื่อประคับประคองสภาพเศรษฐกิจของภูเก็ตได้ในระดับหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา แม้จะมีความมุ่งหมายที่ดีเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าไม่ผ่านการไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนรอบด้าน มาตรการที่ตั้งใจให้กอบกู้วิกฤตของประเทศอาจจะไม่ปังอย่างที่ฝันก็ได้