‘ปรับปรุงห้องน้ำ-ยกเลิกวิชาลูกเสือ-ไม่กำหนดทรงผม’ สิ่งที่นักเรียนไทยอยากได้จากระบบการศึกษาที่สุด
‘ปรับปรุงห้องน้ำ-ยกเลิกวิชาลูกเสือ-ไม่กำหนดทรงผม’ สิ่งที่นักเรียนไทยอยากได้จากระบบการศึกษาที่สุด
‘สังคมต่างอยากเห็นเด็กทุกคนเป็นเด็กดี แต่เราเคยย้อนถามพวกเขาหรือไม่ว่าสังคมสามารถสนับสนุนอะไรให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้’
ในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 นี้ ทีมข่าว TNN Online ขอนำเสนอผลการสำรวจที่น่าสนใจของ Rocket Media Lab ทำร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ โดยสอบถามนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ถึงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ดังนี้
สถานที่ใดที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด?
อันดับ 1 ห้องน้ำ ตอบสูงถึง 1,388 คน คิดเป็น 96.92%
ห้องเรียน 187 คน คิดเป็น 9.42%
โรงอาหาร 156 คน คิดเป็น 7.86%
สนามกีฬา 142 คน คิดเป็น 7.15%
ห้องพยาบาล 31 คน คิดเป็น 1.56%
ห้องสมุด 27 คน คิดเป็น 1.36%
อื่นๆ 54 คน คิดเป็น 2.72% เช่น ห้องพักครู โดม หอประชุม โรงรถ ห้องเก็บของ และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ
ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ต่างเลือกให้ห้องน้ำเป็นสถานที่ที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า นักเรียนทุกภาคต่างก็ลงความเห็นเหมือนกันว่าอยากให้โรงเรียนปรับปรุงห้องน้ำมากที่สุด
กฎเกณฑ์ของโรงเรียนเรื่องใดที่นักเรียนไม่ชอบมากที่สุด?
อันดับ 1 ทรงผม ตอบสูงถึง 990 คน คิดเป็น 49.87%
ยึดโทรศัพท์ก่อนเข้าเรียน 209 คน คิดเป็น 10.5%
ห้ามแต่งหน้า 195 คน คิดเป็น 9.82%
บังคับใช้กระเป๋าของโรงเรียน 150 คน 7.56%
ห้ามทำสีผม 121 คน 6.10%
เล็บต้องสั้น 100 คน คิดเป็น 5.04%
กำหนดรูปแบบถุงเท้า 59 คน คิดเป็น 2.97%
กำหนดความยาวกางเกง/กระโปรง 29 คน คิดเป็น 1.46%
บังคับใส่เสื้อซับใน 16 คน คิดเป็น 0.81%
อื่นๆ 116 คน คิดเป็น 5.84% เช่น ห้ามใส่เสื้อแขนยาวเสื้อกันหนาวหน้าร้อน ห้ามใส่เครื่องประดับ
ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ปวช. ต่างตอบว่ากฎที่ไม่ชอบมากที่สุดคือกำหนดทรงผมเหมือนกัน ขณะที่นักเรียนทุกภาคตอบข้อนี้มากที่สุดเช่นกัน
การลงโทษแบบไหนของครูที่ไม่ชอบที่สุด?
อันดับ 1 การประจานต่อหน้าเพื่อน ตอบสูงถึง 777 คน คิดเป็น 39.14%
ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย 356 คน คิดเป็น 17.93%
กล้อนผม/ตัดผม 248 คน คิดเป็น 12.49%
ยึดโทรศัพท์ 182 คน คิดเป็น 9.17%
สกอตจัมป์/วิ่งรอบสนาม 130 คน คิดเป็น 6.55%
การตี 107 คน คิดเป็น 5.39%
ให้นั่งตากแดด 66 คน คิดเป็น 3.32%
อื่นๆ 119 คน คิดเป็น 5.99% เช่น หักคะแนนความประพฤติ เก็บเงิน/โดนปรับด้วยเงิน ยึดของ
ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ปวช. ตอบเหมือนกันในอันดับหนึ่งและสอง และเกือบทุกภาคที่นักเรียนทั้งชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอบมาเป็นอันดับสองก็คือ การด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ยกเว้นภาคตะวันตกที่อันดับสองคือการกล้อนผม/ตัดผม
เรื่องที่อยากให้ครูเข้าใจและช่วยเหลือมากที่สุด?
อันดับ 1 อยากให้ครูเข้าใจเงื่อนไขที่ต่างกันของนักเรียนแต่ละคน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ตอบสูงถึง 807 คน คิดเป็น 40.65%
อยากให้เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล 421 คน คิดเป็น 21.21%
ความแตกต่างทางกายภาพ เช่น รูปร่าง ความสูง สีผิว 382 คน คิดเป็น 19.24%
ความหลากหลายทางเพศ 282 คน คิดเป็น 14.21%
อื่นๆ 93 คน คิดเป็น 4.69% เช่น ความสามารถที่แตกต่างกันของนักเรียน การโดนบูลลี่
ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ปวช.ต่างเลือกอันดับหนึ่งเหมือนกันคือ อยากให้ครูเข้าใจเงื่อนไขที่ต่างกันของนักเรียนแต่ละคน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว และนักเรียนทุกภาคยังเลือกคำตอบว่า อยากให้ครูเข้าใจเงื่อนไขที่ต่างกันของนักเรียนแต่ละคนเหมือนกันอีกด้วย
ทั้งนี้นักเรียนเกือบทุกภาคที่เลือกปัญหาสุขภาพจิตมาเป็นอันดับสอง ยกเว้นภาคตะวันออกที่อันดับสองคือ ความแตกต่างทางกายภาพ ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่นักเรียนเพศ LGBTQ+ เลือกเป็นอันดับหนึ่ง
สิ่งที่ไม่อยากให้ครูทำมากที่สุด?
อันดับ1 การล้อเลียนนักเรียนด้วยเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง ตอบสูงถึง 447 คน คิดเป็น 22.52%
สั่งการบ้าน 400 คน คิดเป็น 20.15%
พูดจาหยาบคาย 290 คน คิดเป็น 14.61 %
เลือกที่รักมักที่ชัง 280 คน คิดเป็น 14.11%
สั่งงานที่ทำให้เกิดภาระทางการเงิน 239 คน คิดเป็น 12.04%
ถึงเนื้อถึงตัว 63 คน คิดเป็น 3.17%
นินทานักเรียนลงโซเชียลมีเดีย 59 คน คิดเป็น 2.97%
ใช้ให้ทำงานในเรื่องส่วนตัว 54 คน คิดเป็น 2.72%
รับสอนพิเศษแล้วออกข้อสอบ 42 คน คิดเป็น 2.12%
โพสต์คลิป/ภาพถ่ายของนักเรียนลงโซเชียลมีเดีย 32 คน คิดเป็น 1.61%
อื่นๆ 79 คน คิดเป็น 3.98% เช่น นินทานักเรียนให้ครูคนอื่นหรือห้องอื่นฟัง สั่งงานในช่วงก่อนสอบหรือสั่งงานมากเกินไป
ประเด็นนี้มีความแตกต่างกันในคำตอบระหว่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาพบว่า อันดับหนึ่งเป็นไม่อยากให้ครูพูดจาหยาบคาย ในขณะที่ชั้นมัธยมศึกษาเป็นล้อเลียนนักเรียนด้วยเรื่องกายภาพ ขณะที่นักเรียน ปวช. มีอันดับหนึ่งเท่ากันสองเรื่องคือ การล้อเลียนเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง และการสั่งงานที่ทำให้เกิดภาระทางการเงิน
เมื่อพิจารณาตัวเลือกอันดับหนึ่งของนักเรียนในแต่ละภาคก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันไป เช่น นักเรียนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่อยากให้ครูสั่งการบ้านมากที่สุด และภาคตะวันตกเลือกข้อเลือกที่รักมักที่ชังมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนภาคที่เหลือเหมือนกันคือ ไม่อยากให้ครูล้อเลียนนักเรียนด้วยเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง
สิ่งที่นักเรียนอยากให้มีมากที่สุด?
อันดับ1 ชั่วโมงเรียนน้อยลง ตอบสูงถึง 757 คน คิดเป็น 38.14%
อยากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน 386 คน คิดเป็น 19.45%
อยากให้มีกิจกรรมประเมินครู 231 คน คิดเป็น 11.64%
แต่งชุดนักเรียนตามเพศสภาพ 189 คน คิดเป็น 9.52%
มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน 185 คน คิดเป็น 8.32%
อินเทอร์เน็ตฟรี 157 คน คิดเป็น 7.91%
อื่นๆ 80 คน คิดเป็น 4.03% เช่น ยกเลิกฎระเบียบทรงผม คาบว่าง
พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเลือกอันดับหนึ่งและสองตรงกัน ในขณะที่อันดับสาม นักเรียนชั้นประถมศึกษาเลือกอินเทอร์เน็ตฟรี ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเลือกการประเมินครู
ขณะที่ ปวช. เลือกชั่วโมงเรียนน้อยลง เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอยากมีกิจกรรมประเมินครู เช่น โหวตครูที่ชอบประจำปี และนักจิตวิทยาในโรงเรียน ส่วนในรายภาค เรื่องอยากให้ชั่วโมงเรียนน้อยลงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาค
กิจกรรมที่นักเรียนไม่อยากให้มีที่สุด?
อันดับ1 กิจกรรมหน้าเสาธง ตอบสูงถึง 532 คิดเป็น 26.8%
สมุดบันทึกความดี 328 คน คิดเป็น 16.52%
กิจกรรมค่ายธรรมะ 276 คน คิดเป็น 13.9%
กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ 267 คน คิดเป็น 13.45%
กิจกรรมสวดมนต์ 220 คน คิดเป็น 11.08%
กิจกรรมวันพ่อวันแม่ 106 คน คิดเป็น 5.34%
เวรทำความสะอาด 98 คน คิดเป็น 4.94%
กิจกรรมจิตอาสา 82 คน คิดเป็น 4.13%
อื่นๆ 76 คน คิดเป็น 3.83% เช่น กิจกรรมกีฬาสี บันทึกรักการอ่าน กิจกรรม 5 ส.
พบว่ามีความแตกต่างกันในคำตอบระหว่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษา อันดับหนึ่งเป็นยกเลิกกิจกรรมค่ายธรรมะ ส่วนกิจกรรมหน้าเสาธงมาเป็นอันดับสอง ในขณะที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา อันดับหนึ่งคือยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธง อันดับสองคือสมุดบันทึกความดี และนักเรียนเกือบทุกภาคเลือกให้กิจกรรมหน้าเสาธงเป็นกิจกรรมที่นักเรียนไม่อยากให้มีที่สุด
วิชาที่อยากให้ยกเลิกที่สุด?
อันดับ1 วิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ ตอบสูงถึง 1,216 คน คิดเป็น 61.26%
วิชาพุทธศาสนา 225 คน คิดเป็น 11.34%
วิชาหน้าที่พลเมือง 128 คน คิดเป็น 6.45%
วิชาชุมนุม/ชมรม 127 คน คิดเป็น 6.40%
นาฏศิลป์ 122 คน คิดเป็น 6.15%
พลศึกษา 40 คน คิดเป็น 2.02%
อื่นๆ 127 คน คิดเป็น 6.4% เช่น แนะแนว คณิตศาสตร์ กระบี่กระบอง
นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเลือกอันดับหนึ่งคือวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ เป็นวิชาที่นักเรียนอยากให้ยกเลิกมากที่สุด โดยแตกต่างกันที่อันดับสอง นักเรียนชั้นประถมศึกษาเลือกวิชาชุมนุม/ชมรม และมัธยมศึกษาเลือกวิชาพุทธศาสนา
วิชาที่อยากให้มีที่สุด?
อันดับ1 คือ การเงิน การลงทุน ตอบสูงถึง 788 คน คิดเป็น 39.7%
วิชาว่าด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย 416 คน คิดเป็น 20.96%
วิชาอีสปอร์ต 396 คน คิดเป็น 19.95%
แดนซ์ 268 คน คิดเป็น 13.5%
อื่นๆ จำนวน 117 คน คิดเป็น 5.89% เช่น ปฐมพยาบาลเบื้องต้น วิชาการป้องกันตัว แต่งหน้าทำผม ทำอาหาร
นักเรียนชั้นประถมศึกษาเลือกวิชาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็คือวิชาอีสปอร์ต ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเลือกวิชาการเงิน การลงทุน มาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็คือวิชาอีสปอร์ต นักเรียนทุกภาคเลือกวิชาการเงิน การลงทุน มาเป็นอันดับหนึ่งเหมือนกัน
การสำรวจในครั้งนี้เป็นการสอบถามนักเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 1,985 คน ในช่วงวันที่ 9 – 11 มกราคม 2567เป็นเพศชาย 488 คน หญิง 1,247 คน LGBTQ+ 199 คน และไม่ต้องการระบุเพศ 51 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 163 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษา 1,772 คน และ ปวช. 50 คน
เมื่อแยกพื้นที่ของนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามตามภาคเป็นนักเรียนในภาคกลางมากที่สุด 746 คน คิดเป็น 37.58% รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 709 คน คิดเป็น 35.72.% ภาคเหนือ 248 คน คิดเป็น 12.49% ภาคใต้ 194 คน คิดเป็น 9.77% ภาคตะวันออก 49 คน คิดเป็น 2.47% และ ภาคตะวันตก 39 คน คิดเป็น 1.9%
ดูข้อมูลการสำรวจฉบับเต็มได้ที่ rocketmedialab.co/database-student-q1-2024
ภาพ TNNOnline