ญี่ปุ่นเริ่มปล่อย 'น้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์' ลงทะเลรอบ 3 แม้มีเสียงคัดค้าน
โตเกียว, 3 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก รอบที่ 3
รายงานระบุว่าโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือเทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฯ ได้เริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ตอนราว 10.20 น. ของวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น แม้มีความกังวลและการต่อต้านในหมู่ชาวประมงท้องถิ่นจังหวัดฟุกุชิมะ รวมถึงประเทศอื่นๆเทปโกเผยว่าจะเจือจางน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีราว 7,800 ตัน ซึ่งยังคงมีทริเทียมอันเป็นสารกัมมันตรังสี ด้วยน้ำทะเลปริมาณมากก่อนปล่อยลงสู่มหาสมุทร เหมือนกับการปล่อยน้ำเสียเดียวกันรอบที่ 1-2 ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเทปโกวางแผนสูบน้ำราว 460 ตันต่อวัน ณ พื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งราว 1 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ใต้น้ำจนถึงวันที่ 20 พ.ย.สถานเอกอัครราชทูตจีนในญี่ปุ่นได้แสดงการคัดค้านการปล่อยน้ำเสียครั้งล่าสุดอย่างจริงจัง โดยโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนกล่าวว่าการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลทั่วโลกโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนเรียกร้องญี่ปุ่นตอบสนองต่อข้อวิตกกังวลของประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยดำเนินการเรื่องนี้ภายใต้การกำกับดูแลของนานาชาติ และจัดการน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ตามหลักการวิทยาศาสตร์ เปิดกว้าง โปร่งใส และปลอดภัยอนึ่ง การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์เมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) นับเป็นรอบที่ 3 จาก 4 รอบ ซึ่งมีกำหนดดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า และจะนำสู่การปล่อยน้ำเสียที่กักเก็บไว้ในถังของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฯ ในจังหวัดฟุกุชิมะทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นทั้งหมดราว 31,200 ตัน
(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 6 มี.ค. 2023) (แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรของรัฐบาลญี่ปุ่น บริเวณหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น วันที่ 18 ส.ค. 2023)