รีเซต

แต่ละประเทศอยากได้อะไร เมื่อทรัมป์เยือนตะวันออกกลาง เร่งหาสุดยอดดีลมาแลกเปลี่ยน

แต่ละประเทศอยากได้อะไร เมื่อทรัมป์เยือนตะวันออกกลาง เร่งหาสุดยอดดีลมาแลกเปลี่ยน
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2568 ( 14:35 )
5

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังมุ่งหน้าออกจากสหรัฐฯ สู่ภูมิภาคตะวันออกกลางในวันนี้ (12 พฤษภาคม) ดูเหมือนว่าจะทำให้หลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าวตื่นตัวและพยายามหาวิธี หรือ ข้อเสนอที่ดีที่สุดมาเพื่อดึงดูดใจทรัมป์ตลอดเวลาก่อนที่เขาจะเดินทางกลับสหรัฐฯ แล้วแท้ที่จริงประเทศในแถบตะวันออกกลางพวกเขาต้องการอะไรจากทรัมป์กันแน่ พวกเขามี “wish list” หรือ “รายการสิ่งที่อยากได้” อะไรบ้าง เมื่อสหรัฐฯ ได้ประตู “1 สัปดาห์ แห่งโอกาส” ให้กับภูมิภาคนี้ก็ถึงเวลาที่พวกกเขาต้องรีบตักตวงเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ


-ทรัมป์จะไปไหนบ้างในตะวันออกกลาง ?


ทรัมป์มีกำหนดการเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเป็นทางการโดยเริ่มออกเดินทางวันนี้เป็นวันแรกและคาดว่าเครื่องบินของเขาจะแลนด์ดิงถึงประเทศแรกนั่นก็คือ “ซาอุดีอาระเบีย” เศรษฐีน้ำมันผู้ร่ำรวยในอ่าวอาหรับ ภายในวันพรุ่งนี้ (13 พฤษภาคม)  จากนั้นเขาจะเดินทางต่อไปยัง “กาตาร์” และต่อด้วย “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” เป็นประเทศสุดท้ายตามกำหนดการก่อนทที่เขาจะเดินทางกลับสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งการเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ยังนับเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งแรกของทรัมป์นับตั้งแต่ที่กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้น ประเทศเหล่านี้ที่ได้ชื่อว่าคือประเทศที่ “ร่ำรวยที่สุดในโลก” ก็มีข้อเสนอมากมายหลากหลายด้านที่อยากนำมาพูดคุยกับทรัมป์ ไปดูกันว่าพวกเขาอยากได้อะไรบ้าง 


-Wish List ซาอุดิอาระเบีย : อยากปิดผนึกข้อตกลงความมั่นคงกับสหรัฐฯ

“ความมั่นคง ความั่นคง และ ความมั่นคง” เป็นสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียต้องการแสวงหาจากทรัมป์มากที่สุด อาลี ชิฮาบี นักเขียนและนักวิจารณ์เกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐศาสตร์ของซาอุดิอาระเบียกล่าวกับ CNN ซาอุดิอาระเบียและประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf States) อื่น ๆ ต้องการให้สหรัฐฯ รับรองความมั่นคงต่อความผลอดภัยในประเทศของพวกเขา ชิฮาบีกล่าวว่าทรัมป์มีหลายสิ่งที่เขาให้ความสำคัญจึงเป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์ก็มักจะหมดความสนใจอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ดังนั้นความพยายามให้สหรัฐฯ รับรองความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียตั้งมั่นไว้ 


ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย ใกล้จะบรรลุข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศและการค้าครั้งสําคัญร่วมกัน แต่ข้อตกลงดังกล่าวหยุดชะงักไปเนื่องจากซาอุดิอาระเบียยืนกรานว่าจะไม่สนับสนุนและไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ หากไม่มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้น ดังนั้นทรัมป์ก็อาจใช้โอกาสนี้ในการเดินหน้าข้อตกลงดังกล่าวกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้งโดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นของอิสราเอล


นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังต้องการแสวงหาความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์พลเรือน ซึ่งซาอุดีอาระเบียยืนกรานว่าจะเพิ่มยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในประเทศให้อยู่ในระดับเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ และ อิสราเอล ไม่น้อยว่าหากยูเรเนียมเสริมสมรรถนะถึงระดับสูงที่สามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้จะเป็นการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์บนโลกให้มากขึ้นไปอีก แต่ทําเนียบขาวไม่ได้กีดกันโครงการนิวเคลียร์ของซาอุดิอาระเบียเพราะดูเหมือนว่าซาอุดีอาระเบียต้องการกําหนดกรอบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้เป็นในรูปแบบ win-win 

-Wish List สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ : แสวงหาการเป็นเจ้าอิทธิพล AI


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มองว่า “การลงทุน” เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในประเทศที่มีความร่ำรวยต่อหัวมากที่สุดในโลก UAE ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ในหลักล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ UAE เรียกตัวเองว่าพวกเขาคือ “เมืองหลวงแห่งเงินทุน"


เมื่อเดือนมีนาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้กับสหรัฐฯ โดยเน้นไปที่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุนด้านพลังงาน ที่แต่เดิม UAE มีมูลค่าการลุงทุนกับสหรัฐฯ อยู่แล้วมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ตามรายงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในกรุงวอชิงตัน


อันวาร์ การ์กาช ที่ปรึกษาทางการทูตของประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวกับ CNN ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองเห็นโอกาส “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่จะเป็นเจ้าอิทธิพล AI และเทคโนโลยีขั้นสูง ความมุ่งมั่นในการลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สอดคล้องกับเป้าหมายของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้มั่นใจถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในอนาคต แต่ CNN รายงานว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสําหรับ UAE ที่จะบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นําด้าน AI ระดับโลกภายในปี 2031 หากไม่มีไมโครชิปของสหรัฐฯ โดยในช่วงท้ายสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขาได้สั่งให้ควบคุมการส่งออก AI และ ไมโครชิปของสหรัฐฯ อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีขั้นสูงตกอยู่ในมือต่างชาติอย่างจีนเป็นต้น และนั่นทำให้ UAE เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับข้อจํากัดเหล่านี้และพวกเขาก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อจำกัดจถูกยกเลิก ะหว่างการเดินทางเยือนของทรัมป์


-Wish List กาตาร์ : แสวงหาการทูตระดับโลก


กาตาร์เป็นประเทศอ่าวอาหรับที่มีความสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยที่เป็นทางการมากที่สุดกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหารสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อธิบายว่าปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้จะ “ขาดไม่ได้” โดยเมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงอย่างเงียบ ๆ ที่ขยายการฐานทัพทางทหารในกาตาร์ไปอีก 10 ปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความปลอดภัยร่วมกันต่อไป 


ขณะเดียวกัน กาตาร์ยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคนสําคัญในความขัดแย้งหลายครั้ง ตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาไปจนถึงสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของกาตาร์ที่จะทำให้ตัวเองยังคงอยู่ในสายตาของสหรัฐฯ นอกจากนี้กาตาร์ยังมองว่าการเป็นไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเป็นจุดเริ่มต้นของ “อิทธิพลและศักดิ์ศรี”  กาตาร์วางตําแหน่งตัวเองในฐานะหุ้นส่วน “ที่ขาดไม่ได้” สําหรับวาระทางการเมืองของทรัมป์ นอกจากนี้กาตาร์ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาเหม็ด อัล-ชารา ประธานาธิบดีคนใหม่ของซีเรีย ที่กำลังหาทางบรรเทาการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ยาวนานหลายปี

-3 ประเด็นหลักอื่น ๆ ที่ทรัมป์จะหารือระหว่างเยือนตะวันออกกลาง

นอกจากการเยือนประเทศแถบอ่าวอาหรับแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเมื่อทรัมป์มาถึงตะวันออกกลางทั้งทีก็จะต้องมีประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคขึ้นมาอยู่บนโต๊ะเจรจาด้วย สื่อในตะวันออกกลางรายงานว่า 3 ประเด็นหลักที่สำคัญมากบนโต๊ะเจรจาตะประกอบด้วย “ความขัดแย้งในฉนวนกาซา”, “โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน” และ “สถานการณ์ในซีเรีย” โดยที่สื่อกล่าวว่าประเด็นซีเรียเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดและมีความไม่เสถียรมากที่สุดด้วย 


CNN รายงานว่า ซีเรียจะเป็นประเด็นสําคัญที่ทรัมป์จะหยิบขึ้นมาพูดระหว่างเยือนกาตาร์ โดยที่กาตาร์ก็มีความพยายามผลักดันให้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเลิกการคว่ำบาตรซีเรีย อีกทั้งกาตาร์ยังให้คำมั่นว่าจะระมัดระวังเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ซีเรียโดยยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากสหรัฐฯ 


ในขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า อาเหม็ด อัล-ชารา ผู้นำซีเรียอาจเสนอแผนการสร้างอาคาร “ทรัมป์ทาวเวอร์” ในกรุงดามัสกัสแบบเดียวกับที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก รวมไปถึงแผนการผ่อนปรนกับอิสราเอลและแผนการให้สหรัฐฯ เข้าถึงน้ํามันและก๊าซของซีเรีย กับทรัมป์ระหว่างที่เขาเยือนตะวันออกกลางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของผู้นําซีเรียในการเผชิญหน้ากับทรัมป์เพื่อสร้างความพึงพอใจ 


โจนาธาน เบส นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันที่สนับสนุนทรัมป์กล่าวว่าการพาทรัมป์เข้าไปในห้องเจรจากับ อัล-ชารา ที่สหรัฐฯ ยังมองว่าพวกเขาคือ “ผู้ก่อการร้าย” อาจทำให้ทรัมป์และฝ่ายบริหารของเขา เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับซีเรียให้เป็นไปในทางที่อ่อนลงและอาจทําให้ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างซีเรียและอิสราเอลบรรเทาลงไม่มากก็น้อย ซึ่งเขาหวังว่าความพยายามในครั้งนี้จะสำเร็จไปได้ด้วยดีเหมือนอย่างในกรณีเมื่อปี 2019 ที่ทรัมป์พบผู้นำคิม จอง-อึน ของเกาหลีเหนือที่เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปทั่วโลก 


เบส กล่าวด้วยว่า อัล-ชาราต้องการทำข้อตกลงทางธุรกิจกับสหรัฐฯ เพื่ออนาคตของประเทศ ซึ่งอาจครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงาน ความร่วมมือต่อต้านอิหร่าน และการมีส่วนร่วมกับอิสราเอล อีกทั้งเบสยังอ้างว่าทั้งอัล-ชารา และ ทรัมป์ ต่างมีประสบการณ์เฉียดตายจากการถูกยิงร่วมกัน นี่จึงอาจทำให้พวกเขามีความเข้าใจกันและกันได้มากขึ้นด้วย 


ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้ว การเยือนตะวันออกกลางของทรัมป์เป็นเรื่องโอกาสที่แต่ละประเทศจะทำชุดข้อตกลงใหม่ร่วมกับสหรัฐฯ ที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการที่ทรัมป์มาที่นี่เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีการประกาศความร่วมมือหรือแผนการครั้งใหญ่ในช่วงที่ทรัมป์อยู่ในตะวันออกกลางด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง