จีนประกาศสู้สุดใจ หากสหรัฐฯ ยังเก็บภาษี ทำปัญหาบานปลาย

หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า พฤติการณ์ของฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงออกถึงความตั้งใจจริงสำหรับการเจรจาที่จริงจัง จีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้ที่จำเป็นทุกประการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่า 100 เปอร์เซนต์ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) เพื่อตอบโต้การตัดสินใจของจีนเพื่อขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ตอบโต้มาตรการทางภาษีศุลกากรที่ทรัมป์สั่งเก็บเพิ่มกับสินค้านำเข้าของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทรัมป์ระบุว่า เขาจะบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 50% ในวันพรุ่งนี้ ถ้าจีนไม่ยอมยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 34% เพื่อตอบโต้พิกัดอัตราภาษีสินค้านำเข้าอัตราเดียวกันที่นายทรัมป์บังคับใช้กับสินค้าจีนเพิ่มเติมจากภาษี 20% ที่ทรัมป์ประกาศใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี
รัฐบาลในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียู แคนาดา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และ เม็กซิโก กำลังเร่งเสริมมาตรการต่อต้านการขึ้นภาษีศุลกากรหรือภาษีสินค้านำเข้าระลอกล่าสุดของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณให้เห็นถึงกระแสการตอบโต้ระดับนานาชาติที่เริ่มมีมากขึ้นและความเป็นไปได้ที่ข้อพิพาททางการค้าจะบานปลาย ภายในหลายสัปดาห์ข้างหน้า
ท่ามกลางข้อวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 2 เมษายน บังคับใช้อัตราภาษีพื้นฐานขั้นต่ำ 10% กับสินค้านำเข้าทุกประเภทและบางประเทศจะถูกเก็บภาษีสินค้านำเข้าด้วยอัตราที่สูงขึ้น
กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอียู ประชุมกันที่ประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) เพื่อหายุทธศาสตร์ในการรับมือกับมาตรการทางภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯที่เป็นเอกภาพ โดยสื่อหลายแขนงรายงานว่า กรรมาธิการยุโรปเสนอมาตรการภาษีตอบโต้ 25% กับสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ หลายประเภท รวมทั้งถั่วเหลือง เพชร ไข่และสัตว์ปีก มุ่งตอบโต้โดยตรงกับที่สหรัฐฯเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากยุโรป กลุ่มอียูจะลงมติกันในวันที่ 9 เมษายน ถ้าผ่านอนุมัติคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 เมษายน แต่จะเริ่มทยอยบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมและวันที่ 1 ธันวาคม
ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศว่า แคนาดาได้ร้องขอเพื่อปรึกษาอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ ภายใต้กลไกการยุติปัญหาพิพาทของดับเบิลยูทีโอ หลังสหรัฐฯ บังคับใช้พิกัดภาษี 25% กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยแคนาดาโต้แย้งว่า มาตรการทางภาษีเป็นการละเมิดพันธกรณีของสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) เมื่อปี 1994
ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียน กล่าวว่า มาเลเซียที่ปัจจุบันเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนจะทำงานเพื่อเสริมช่องทางการสื่อสารในกลุ่มอาเซียนและประสานความร่วมมือตอบโต้มาตรการทางภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะประชุมกันในวันที่ 10 เมษายน เพื่อถกหารือยุทธศาสตร์เพื่อรับมือที่ครอบคลุมต่อไป
ด้านประธานาธิบดีคลาวเดีย เชนบัม ของเม็กซิโก แถลงไม่ตัดทิ้งการบังคับใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ แต่ได้เน้นย้ำด้วยว่าจะใช้ทุกช่องทางทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคชาวเม็กซิกัน