ทรัมป์ประกาศดีลการค้าประวัติศาสตร์กับอังกฤษ ลดภาษีสินค้าหลายรายการ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของสหราชอาณาจักร ประกาศข้อตกลงทางการค้า "ครั้งสำคัญ" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นดีลแรกหลังจากทรัมป์กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวเมื่อต้นปี โดยข้อตกลงนี้จะช่วยลดความตึงเครียดทางการค้า พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้ทั้งสองประเทศ
ข้อตกลงดังกล่าวจะยังคงภาษีพื้นฐานร้อยละ 10 สำหรับสินค้าจากสหราชอาณาจักรที่เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกัน อังกฤษตกลงลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือเพียงร้อยละ 1.8 จากเดิมร้อยละ 5.1 และเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าถึงได้มากขึ้น
ทรัมป์ กล่าวว่า นี่เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างสำหรับเรา ขณะที่สตาร์เมอร์ก็ร่วมแสดงความยินดีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า นี่คือวันที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จริง ๆ
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากนักลงทุนและภาคธุรกิจที่ต้องการเห็นสหรัฐฯ คลี่คลายสงครามภาษีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีร้อยละ 10 กับหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เมษายน และวางแผนเพิ่มอัตราภาษีสูงขึ้นอีกในอนาคต
ในรายละเอียด อังกฤษจะได้โควต้านำเข้ารถยนต์สู่สหรัฐฯ โดยเสียภาษีเพียงร้อยละ 10 แทนร้อยละ 27.5 สำหรับรถยนต์จำนวน 100,000 คัน ซึ่งเกือบเท่ากับยอดส่งออกทั้งปีของอังกฤษ ขณะที่ภาษีนำเข้าจากอุตสาหกรรมเหล็กของสหราชอาณาจักรจะลดลงจากร้อยละ 25 เหลือศูนย์
อีกด้านหนึ่ง สหราชอาณาจักรตกลงลดภาษีนำเข้าของเอทานอลจากสหรัฐฯ จาก ร้อยละ 19 เหลือ 0% และเปิดโควตานำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ปลอดภาษีที่ 13,000 ตัน โดยไม่มีการลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร ซึ่งยังสอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป
รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ นายโฮเวิร์ด ลัทนิค เปิดเผยว่า อังกฤษเตรียมซื้อเครื่องบินโบอิ้งที่ผลิตในสหรัฐฯ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐฯ จะยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องยนต์เจ็ท Rolls-Royce จากอังกฤษ ส่งผลให้เกิดโอกาสการส่งออกใหม่มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างรายได้จากภาษีใหม่อีก 6 พันล้านดอลลาร์ให้สหรัฐฯ
แม้จะมีความคืบหน้าในหลายด้าน แต่นักเศรษฐศาสตร์และซีอีโอบางรายชี้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นยังมีจำกัด ข้อตกลงนี้จะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าหลัง Brexit กับทั้งสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลอังกฤษยังต้องรับมือกับความไม่พอใจในประเทศ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัลร้อยละ 2 ที่ยังคงบังคับใช้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Google และ Amazon ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภค