รีเซต

Editor’s Pick: กลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้...ใช่นั่นคือความจริง แต่ตาลีบันยังไม่ได้ยึดครบทุกจังหวัด

Editor’s Pick: กลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้...ใช่นั่นคือความจริง แต่ตาลีบันยังไม่ได้ยึดครบทุกจังหวัด
TNN World
24 สิงหาคม 2564 ( 14:56 )
137
Editor’s Pick: กลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้...ใช่นั่นคือความจริง แต่ตาลีบันยังไม่ได้ยึดครบทุกจังหวัด และตอนนี้ ชาวอัฟกันในจังหวัดหนึ่ง ปฏิญาณจะสู้จนตัวตายไม่ยอมกำราบให้ตาลีบัน
เราไปทำความรู้จัก ‘นักรบผู้กล้าแห่งหุบเขาปัญปัญจะชีร์’ (ปัญชี) ผู้หาญกล้าท้าทายผู้ปกครองใหม่แห่งอัฟกาฯ กัน
 
 
หุบเขาปัญจะชีร์ อยู่ที่ไหน?
 
 
หุบเขาแห่งนักรบผู้ต้านตาลีบัน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงคาบูลไปทางเหนือราว 150 กิโลเมตรเท่านั้น ตอนนี้ เป็นศูนย์กลางของยุทธวิธีกองโจรต้านอำนาจตาลีบัน
 
 
อันที่จริง หุบเขาปัญจะชีร์ ไม่ได้ต่อสู้กับตาลีบันเท่านั้น แต่ไม่เคยยอมก้มหัวให้การยึดครองของกองกำลังต่างชาติมานานแล้ว รวมถึงสมัยที่จักรวรรดิบริติช (อังกฤษ) พยายามทะลวงภูมิภาคนี้ เพื่อยึดอัฟกานิสถานในช่วงศตวรรษที่ 19 , นักรบแห่งหุบเขาปัญจะชีร์ก็ต้านทานกองทัพอังกฤษได้อย่างยาวนาน
 
 
แม้แต่ในช่วงที่สหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถาน ช่วงทศวรรษที่ 1980s แต่นักรบเดนตาย ภายใต้การนำของอาห์หมัด ชาห์ มาซูด ผู้ได้ฉายาว่า “สิงโตแห่งปัญจะชีร์” ผู้เกรียงไกร ก็ต้านทานกองทัพโซเวียตได้อย่างทัดเทียม
 
 
 
ชัยภูมิแห่งผู้กล้า
 
 
ภูมิศาสตร์ของหุบเขาปัญจะชีร์ ในจังหวัดปัญจะชีร์ เป็นส่วนสำคัญของปราการปราบศัตรูพ่าย, ซ่อนหลืบอยู่ในเทือกเขาฮินดูกูช และเข้าถึงได้ผ่านช่องเขาแคบ ๆ เท่านั้น คือ ซาลาง พาส (Salang Pass) ถือเป็นปราการธรรมชาติที่ทำให้นักรบเหล่านี้ เอาชนะผู้รุกรานได้ แม้มีกองกำลังน้อยกว่า
 
 
ก่อนหน้าที่กลุ่มตาลีบันจะยึดอัฟกานิสถานได้ เหล่าแกนนำของจังหวัดปัญจะชีร์เรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกัน มอบอำนาจปกครองตนเองแก่พวกเขา เพราะมั่นใจว่าจะป้องกันตนจากตาลีบันได้อยู่หมัด
 
 
ประชากรส่วนใหญ่ของหุบเขาปัญจะชีร์ เป็นชนพื้นเมืองชาวทาจิก ขณะที่กลุ่มตาลีบัน เป็นชาวปัชตุน
 
 
 
พันธมิตรฝ่ายเหนือ
 
 
ภายหลังสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 กลุ่มมูจาฮิดีน (นักรบอัฟกันที่ต่อสู้กับโซเวียต) ได้แตกออกเป็นฝักฝ่าย และห้ำหั่นกันเองเพื่อยึดครองประเทศ
 
 
สิงโต ‘มาซูด’ แห่งปัญจะชีร์ จึงก่อตั้งพันธมิตรฝ่ายเหนือ หรือแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน ประกอบด้วยนักรบชาวอุซเบ็ก และทาจิก ซึ่งช่วงหนึ่ง กล้าแกร่งถึงกับยึดกรุงคาบูลได้ แม้ว่าจะเผชิญข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม
 
 
แต่ถึงปี 1996 พื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานก็ตกเป็นของกลุ่มตาลีบัน ส่วนพันธมิตรฝ่ายเหนือภายใต้การนำของมาซูด ถอยร่นกลับไปหุบเขาปัญจะชีร์ แต่ก็ยังป้องกันชัยภูมิสำคัญของตนเองไปได้ ตลอดเวลา 5 ปีที่ตาลีบันปกครองประเทศ
 
 
ตำนานของสิงโตแห่งปัญจะชีร์ ผู้ต่อสู้กับตาลีบันมาตลอดชีวิตที่เหลือ จบลงเมื่อกลุ่มอัลกออิดะห์ลอบสังหารเขา เพียง 2 วันก่อนที่จะก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001
 
 
อันที่จริง การลอบสังหารมาซูด ถือเป็นฉากเปิดม่านของการก่อการร้ายโจมตีนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ดีซี ของกลุ่มอัลกออิดะห์เลยทีเดียว
 
 
 
จากราชสีห์สู่ลูกสิงโต
 
 
ตอนนี้ พันธมิตรฝ่ายเหนืออยู่ภายใต้การนำของบุตรชายนายมาซูด คือ อาห์หมัด มาซูด ที่ก็ดำเนินเจตนารมณ์ตามบิดา ปฏิญาณจะสู้กับกลุ่มตาลีบัน ก่อนหน้าที่ตาลีบันจะยึดประเทศได้
 
 
มาซูดผู้ลูก ตอนนี้ อายุ 32 ปี เรียกร้องให้กองกำลังชาติตะวันตกช่วยเหลือนักรบแห่งหุบเขาปัญจะชีร์ เพื่อต่อสู้กับตาลีบัน โดยบอกกับ Washington Post ว่า ทหารอัฟกานิสถานบางส่วน รวมถึงหน่วยรบพิเศษ ได้เข้าร่วมกับพวกเขาแล้ว
 
 
แม้แต่อดีตประธานาธิบดีอัมรุลลาห์ ซาเลห์ ซึ่งเกิดในหุบเขาปัญจะชีร์ และเคยฝึกฝนการรบที่นั่น ก็หลบหนีไปยังหุบเขาแห่งนี้ ภายหลังกรุงคาบูลแตกพ่าย
 
 
“เราสั่งสมกระสุนและอาวุธมานานตั้งแต่สมัยพ่อของผม เพราะเรารู้ว่า สักวันหนึ่งวันนี้จะมาถึง” มาซูด เขียนถึง Washington Post
 
 
“ถ้าขุนศึกตาลีบันบุกโจมตี พวกเราจะต้านทานอย่างถึงที่สุด”
 
 
“ข้าคือบุตรแห่งอาร์หมัด ชาห์ มาซูด คำว่ายอมพ่าย ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมของข้า” เบอร์นารด์ เฮนรี เลวี นักเขียนชาวฝรั่งเศส ทวิตถึงสิ่งที่มาซูดผู้ลูกบอกกับเขาผ่านทางโทรศัพท์
 
 
 
สู้แค่ตาย “พ่ายแพ้ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรม”
 
 
แต่สถานการณ์ของนักรบแห่งหุบเขาปัญจะชีร์ ไม่สู้ดีนัก เพราะตอนนี้ กลุ่มตาลีบันแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ และปิดกั้นเส้นทางขนส่งเสบียงไปยังพื้นที่
 
 
ทั้งนี้ อดีตนายพันแห่งกองทัพอัฟกันที่เข้าร่วมกับนักรบปัญจะชีร์ ประกาศว่า “สไนเปร์ ปราการกั้นถนน และทหาร 2 หมื่นนาย พร้อมจะสู้รบแล้ว”
 
 
อย่างไรก็ดี กลุ่มตาลีบันอ้างว่ายึดพื้นที่อย่างน้อย 3 เขตในหุบเขาปัญจะชีร์ได้แล้ว และช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังส่งกำลังหนุนเข้าไปในภูมิภาค พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรฝ่ายเหนือยอมจำนนอย่างสันติ
 
 
แต่สมรภูมินี้ อาจจบลงอย่างไม่คาดคิด เพราะมาซูดผู้ลูกเองก็แสดงท่าทีพร้อมเจรจากับตาลีบัน ด้วยเงื่อนไขว่า ตาลีบันต้องจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเท่านั้น
 
 
แต่โฆษกพันธมิตรฝ่ายเหนือก็เตือนรัฐบาลชาติตะวันตกว่า “ภัยคุกคามของการก่อการร้ายกำลังเพิ่มขึ้น และสักวันหนึ่งจะคืบคลานไปถึงสหรัฐฯ...ดังนั้น ชาติตะวันตกควรมาร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวินาศกรรมเหมือนเหตุ 11 กันยายนอีก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง