รีเซต

ธปท.เล็งมาตรการจูงใจธนาคาร ปรับโครงสร้างหนี้ เป้าแฮร์คัท-ยืดระยะผ่อนยาวเป็นปี

ธปท.เล็งมาตรการจูงใจธนาคาร ปรับโครงสร้างหนี้ เป้าแฮร์คัท-ยืดระยะผ่อนยาวเป็นปี
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 18:23 )
69
ธปท.เล็งมาตรการจูงใจธนาคาร ปรับโครงสร้างหนี้ เป้าแฮร์คัท-ยืดระยะผ่อนยาวเป็นปี

ข่าววันนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการจูงใจเพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าธนาคาร ในการลดภาระหนี้ได้มากขึ้น เพราะประเมินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและคาดว่าจะยืดเยื้อ

 

ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นและแพคเกจแบบครั้งคราว 2-3 เดือนที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ อาจไม่เพียงพอแล้วต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเปราะบางและความเดือดร้อนของลูกค้ามากขึ้น โดยขณะนี้กำลังหารือกับธนาคาร สถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นประโยชน์ที่เกิดสมดุลไม่กระทบต่อสถานะการเงินของธนาคารและช่วยเหลือลูกค้าในระยะยาวได้แท้จริง

 

“โดยจะเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด ซึ่งในมาตรการจะเน้นให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ทั้งการแฮร์คัท หรือการขอลดยอดหนี้ลง ควบคู่กับลดอัตราดอกเบี้ย ลดยอดเงินชำระแต่ละงวด ขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้สามารถจ่ายได้น้อยลงจนกว่าธุรกิจหรือรายได้จะดีขึ้นก็ค่อนขยับยอดชำระหนี้ รวมถึงขยายเวลาการพักหนี้และยืดเวลาการชำระหนี้

 

โดยการปรับโครงสร้างให้ยึดตามความเหมาะสมกับประเภทธุรกิจและการฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 คลี่คลายแท้จริง เช่น ภาคท่องเที่ยวและโรงแรม คาดว่ากว่าจะฟื้นตัวก็ 2-3 ปี ส่วนธุรกิจบริการหรือร้านอาหารก็อาจใช้เวลาน้อยกว่า ตอนนี้เรากำลังหารือกับสถาบันการเงินถึงความช่วยเหลือที่จะตรงจุดและลูกหนี้เข้าถึงได้จริง และตอบโจทย์ตรงสถานการณ์ ส่วนคาดการณ์จะช่วยเอสเอ็มอีหรือลูกหนี้ลดภาระได้เท่าไหร่ อยู่ระหว่างการประเมิน จากข้อมูลพบว่าที่ยังว่างงานมี 3 ล้านคน หนี้ครัวเรือนจาก 80% จะถึง90% ในระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวถึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ และธปท.สนับสนุนในเรื่องนี้” นายรณดล กล่าว

 

นายรณดล กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการซอฟต์โลน ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ปล่อยกู้แล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จำนวน 2.9 หมื่นราย ในส่วนหนี้เป็นเอสเอ็มอี 4% และธุรกิจต่างจังหวัด 68% โครงการพักทรัพย์พักหนี้อนุมัติ8,991 ล้านบาท ลูกหนี้ 50 ราย

 

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ในมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะออกมานั้น ต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งเรื่องระยะเวลาการแพร่ระบาด จำนวนเอ็นพีแอลที่จะพยุงอย่างไรให้เพิ่มในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ธนาคารประเมินถึง 3% ในไตรมาส 4 ปีนี้ รวมถึงความสถานะสำรองของธนาคารที่ไม่ได้รับกระทบที่อาจเกิดปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งกำลังทบทวนเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินด้วย ที่จะครบเกณฑ์ในปลายปี 2564 นี้

 

“ มาตรการก่อนหน้านี้ ทั้งพักชำระหนี้พักดอกเบี้ย จะเป็นช่วงสั้นๆ เพราะที่ผ่านมา โควิดระบาดแล้วก็ไม่ได้รุนแรงยืดเยื้ออย่างตอนนี้ ก็ออกมาตรการที่คิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ตอนนี้ปัญหาสะสมเพิ่มขึ้น มาตรการช่วยเหลือก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ อย่างเอสเอ็มอีเจอปัญหาหนักแม้โควิดคลี่คลายแต่ก็ต้องใช้เวลาฟื้นตัว ก็มองว่าปรับโครงสร้างหนี้เกิน 2 ปีน่าจะเหมาะสม ธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจ 10 ปี เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ได้ระบุชัดเจนกว่าต้องเท่าไหร่ เหมาะสม ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ “นางสาวสุวรรณี กล่าว

 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลกับทุกธุรกิจพบว่า ผลกระทบจะมากน้อยไม่เท่ากัน อย่างธรุกิจท่องเที่ยวต้องการพักหนี้ยาวกว่า 1 ปี เป็นต้น ซึ่งธปท.ประเมินจากการควบคุมการระบาดโควิดคาดได้ในไตรมาส 3 และทำให้ไตรมาส4 กิจกรรมเริ่มฟื้นตัว การส่งออกที่ยังดีต่อเนื่อง เศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าติดลบ และธปท. ประเมินขยายตัวไว้ที่ 0.7% และขยายตัวได้ 3.7% ในปี 2565 เพราะฐานต่ำในปี2564 กิจกรรมการค้าเริ่มทำได้ปกติ และการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง