รีเซต

นวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุ | TNN Tech Reports

นวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุ | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2567 ( 14:40 )
24
นวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุ | TNN Tech Reports



ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เราจึงได้เห็นการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ  ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก ช่วงนี้เราเลยจะพาไปชมตัวอย่างส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่คิดค้นมาเพื่อผู้สูงอายุ จากฝีมือนักพัฒนาในต่างประเทศกัน


เสื้อถุงลมนิรภัยปกป้องผู้สูงวัยล้ม


เริ่มกันที่การรับมือกับสังคมสูงวัยในประเทศจีน จากสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีซูโจว อิไตเป่า (Suzhou Yidaibao)  ที่ได้คิดค้นเสื้อกั๊กและเข็มขัดที่สามารถพองลมเป็นเบาะได้ เพื่อรองรับการล้มของผู้สูงอายุ 


ฟังก์ชันการทำงานของเสื้อกั๊กและเข็มขัดพองลมได้นี้ จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวและมุมของการล้ม ไมโครไจโรสโคป (micro gyroscope) ที่ทำงานร่วมกันกับโปรเซสเซอร์หรือหน่วยประมวลผล และมีไมโครชิป ที่จะรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหวของมนุษย์ถึง 200 ครั้งต่อวินาที และอัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซึ่งจะช่วยจะวิเคราะห์ท่าทางของผู้สวมใส่ 


เมื่อระบบสามารถตรวจจับลักษณะของการล้มได้ ตัวอุปกรณ์เสื้อหรือเข็มขัดนิรภัยนี้ ก็จะพองออกแบบอัตโนมัติภายในเวลาเพียง 0.18 วินาที ซึ่งตามสถิติของบริษัทระบุว่า เป็นเวลาที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยที่คนเราจะล้มกระแทกพื้น ซึ่งใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 0.3 วินาที 


ตัวเสื้อมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.5 กิโลกรัม จะพองออกเพื่อทำหน้าที่เป็นเบาะรับแรงกระแทกให้กับบริเวณศีรษะ หน้าผาก หัวไหล่ หลัง และอก หรือในรุ่นที่เหนือกว่า ก็จะสามารถรองรับบริเวณก้นกบ และเอวได้ ส่วนอุปกรณ์เข็มขัด จะพองออกและรองรับที่บริเวณช่วงเอว ก้น และต้นขา


ตัวอุปกรณ์นี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนเพื่อระบุข้อมูลการใช้งาน และตำแหน่งของผู้สวมใส่ได้ ในกรณีที่ต้องการทราบว่าผู้สูงวัยกำลังเดินทาง หรือล้มลงตรงจุดไหน


โดยบริษัทผู้พัฒนามองว่า อุปกรณ์นี้เป็นหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยลดอาการบาดเจ็บให้กับกลุ่มผู้สูงวัยได้


รถเข็นวีลแชร์ทรงใหม่ปรับที่นั่งตั้งสูง


สำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ในการเคลื่อนที่ ข้อจำกัดนึงคือการที่ต้องอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนเยอะ ๆ ในพื้นที่แคบ อาจจะทำให้รู้สึกอึดอัด เนื่องจากระดับสายตาของเราอาจจะไม่เท่าคนอื่น และการจะได้เห็นวิวรอบข้างในระดับสายตาเท่ากันกับคู่สนทนา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 


เพื่อแก้ปัญหานี้ สตาร์ตอัปจากประเทศลิทัวเนีย บริษัท โครนัส โรโบติกส์ (Chronus Robotics) จึงได้ออกแบบวีลแชร์ทรงใหม่ ให้ชื่อว่า Kim-e ที่สามารถปรับระดับให้ผู้ใช้งานนั่งได้สูงขึ้น โดยจะทำงานคล้ายกับหุ่นยนต์พยุงตัวเคลื่อนที่ส่วนบุคคล มีเบาะนั่งพร้อมสายรัด ช่วยป้องกันการเลื่อนตก และสามารถสั่งยกระดับตัวเบาะนั่ง ปรับท่าทางของผู้ใช้งานให้คล้ายกับการยืนตรง เทียบเคียงความสูงกับผู้อื่นได้ภายในไม่กี่วินาที


สำหรับกลไกการควบคุมล้อจะใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนบน เช่น การเอียงตัว การทิ้งน้ำหนักที่ก้น เพื่อสั่งการทิศทาง เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้ายและขวา ทำให้มือของผู้ใช้งานว่าง สามารถทำอย่างอื่นได้ และถ้าต้องการยกระดับตัวเองให้อยู่ในระดับสายตา ก็เพียงแค่กดปุ่มปรับระดับด้านล่างได้เองง่าย ๆ ด้วยกลไกที่ไม่ซับซ้อน


ตัววีลแชร์หนัก 38 กิโลกรัม รองรับน้ำหนักผู้ใช้งานสูงสุด 90 กิโลกรัม ใช้ขึ้นเนินที่ความชันสูงสุดได้ที่ 20 องศา และทำความเร็วได้สูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับการชาร์จแบตเตอรีลิเธียม 4 ชั่วโมง เดินทางได้ไกลถึง 30 กิโลเมตร


เมื่อไม่ใช้งาน วีลแชร์คันนี้ยังสามารถพับเก็บได้ง่าย โดยปัจจุบันยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดราคา และการวางจำหน่าย


ญี่ปุ่นทำระบบจดจำใบหน้าอ่านค่าชีพจร


ปิดท้ายกันด้วยผลงานการพัฒนาระบบจดจำใบหน้าขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังของญี่ปุ่น NEC ที่เคลมว่าสามารถอ่านค่าสัญญาณชีพจรได้ เพียงแค่เปิดกล้องส่องใบหน้าเท่านั้น หวังต่อยอดเป็นตัวช่วยในการตรวจสุขภาพให้ผู้สูงอายุ


ระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นนี้ทำงานผ่านสมาร์ตโฟน ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดระบบและมองเข้าไปในกล้องของสมาร์ตโฟน จากนั้นระบบก็จะใช้เวลาประมาณ 10-60 วินาที เพื่อให้เอไอทำการจดจำภาพและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของรูม่านตารวมถึงรูปแบบของใบหน้า เพื่อทำการวัดค่าต่าง ๆ 


บริษัทเคลมว่าระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถวัดอัตราการเต้นของชีพจรจากข้อมูลหลอดเลือดที่รวบรวมตามลักษณะการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า และวัดอัตราการหายใจของผู้ใช้งานด้วยการอ่านการเคลื่อนไหวของหน้าอก 


โดย ฮิโตชิ อิมาโอกะ (Hitoshi Imaoka) ตัวแทนบริษัทผู้พัฒนา ระบุว่า แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ของเขาเอง ที่มีอายุ 80 ปีแล้ว รวมถึงที่ญี่ปุ่นเองก็กำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย เขาจึงพยายามรวมเทคโนโลยีเอไอเข้ากับระบบจดจำใบหน้า ทำเป็นระบบตรวจจับสัญญาณชีพขึ้นมานั่นเอง


ทั้งนี้ บริษัทมองว่า ผลงานนี้จะช่วยให้การดูแลและรายงานข้อมูลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น เพียงแค่การตรวจสอบจากการสังเกตใบหน้าเท่านั้น


ผลงานนี้เคยถูกนำไปจัดแสดงภายในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก CES 2024 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รางวัล Innovation Award สาขาปัญญาประดิษฐ์ด้วย โดยวางแผนที่จะเปิดตัวระบบในปลายปีนี้


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง