รีเซต

เข้าใจ 'ภาษีที่ดินใหม่' ที่เริ่มใช้ ปี 2563

เข้าใจ 'ภาษีที่ดินใหม่' ที่เริ่มใช้ ปี 2563
TrueID
23 กันยายน 2563 ( 10:48 )
9.3K

ตามที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศ ณ วันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อมาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ให้เข้ากับสถานการณ์ ประเทศไทยในปัจจุบันมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อ กระจายอำนาจไปยังท้องถื่น ลดการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นต้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังแรกและมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากที่อยู่อาศัยมีมูลค่าเกินกว่านั้น จึงจะเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า trueID news จะพาทุกท่านไปรู้จักกับภาษีที่ดินใหม่ว่าเป็นอย่างไร

 

>>>กู้ซื้อบ้าน มาตรการ LTV คืออะไร และมีผลอย่างไร?

 

 

 

ภาษีที่ดินใหม่คืออะไร

 

ภาษีที่ดิน หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่ดินใหม่ที่มาแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจะถูกยกเลิกไป โดยผู้ที่เคยเสียภาษีดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2563 จะไม่ต้องเสียภาษีเหล่านี้ซ้ำอีก แต่จะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน 

ภาษีที่ดินแบบใหม่นั้น แบ่งประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ ดังนี้ 

1.เพื่อการเกษตรกรรม 
2.อยู่อาศัย 
3.พาณิชยกรรม 
4.และที่ดินรกร้าง

 

ประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่

 

  • ลดความเหลื่อมล้ำผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • เพิ่มประสิทธิภาพโดยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี และกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน
  • เพิ่มรายได้ อปท. มีรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มีการตรวจสอบการดำเนินงานของ อปท. ว่ามีการเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงติดตามการใช้จ่ายเงินภาษีซึ่งเก็บภาษีจากประชาชนในพื้นที่ ไปพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของประชาชน

 

ภาษีที่ดินใหม่ มีผลกระทบกับใครบ้าง

 

มีผลกับที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่เกิดประโยชน์จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูง ทำให้เจ้าของที่ดินทัังหลายไม่อยากถือครองที่ดินเพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ดังนั้นกฏหมายฉบับใหม่นี้อาจทำให้เกิดแรงขายจากเจ้าของที่ดินเป็นจำนวนมาก ในส่วนบริษัทอสังหาฯหรือผู้พัฒนาที่ดินก็ต้องเร่งพัฒนาที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินผืนนั้นให้คุ้มค่าทำเสียภาษีลดลง ถือว่าเป็นแรงผลักดันทางอ้อมให้ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดอีกทางหนึ่ง แต่การผลักดันทางอ้อมแบบนี้ก็มีเรื่องที่ต้องระวังอยู่เหมือนกัน คือ เมื่อเกิดการสร้างพัฒนาอสังหาขึ้นพร้อมๆกัน อาจกระทบให้เกิดมีสินค้าและบริการออกมาขายในปริมาณมากเกินไปในขณะที่ความต้องการซื้อไม่ได้มีมากขนาดนั้น ส่งผลให้สินค้าล้นตลาดขึ้นได้

 

มีที่ดินเปล่าควรทำอย่างไร

 

เนื่องจากรัฐต้องการให้ใช้ประโยชน์สูงสุดในที่ดินไม่ให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จึงเก็บภาษีที่ดินเปล่าซึ่งยังทิ้งให้รกร้างก็จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรสร้างมูลค่าให้กับที่ดินของเรา เช่น

  • แบ่งแปลงให้เล็กลง เพราะภาษีที่ดินใหม่จะคิดภาษีเป็นแบบขั้นบันได ทำให้ยิ่งมีพื้นที่ดินเยอะก็ยิ่งเสียภาษีมาก ดังนั้นการแปลงที่ดินออกเป็นแปลงเล็กๆ ก็จะช่วยทำให้ราคาประเมินที่ดินถูกลง ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงด้วย
  • โอนบ้านหลังอื่นๆ ให้เป็นชื่อของลูกหลาน วิธีนี้จะช่วยลดหย่อนภาษีได้เนื่องจากการโอนบ้านเป็นชื่อลูกหลานจะเป็นฐานภาษีในส่วนที่จะได้รับการยกเว้น เนื่องจากลูกหลานจะได้รับสิทธิบ้านหลังแรก ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทไปโดยปริยาย
  • การสร้างบ้าน หากมีที่ดินแปลงใหญ่จะทำให้ต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูง ดังนั้นการสร้างบ้านไว้บนที่ดินเพิ่มเติมก็จะทำให้เสียภาษีที่ดินใหม่น้อยลง เนื่องจากที่ดินนั้นกลายเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยในทันที
  • ทำที่ดินว่างเปล่าที่มีให้กลายเป็นที่ดินเกษตรกรรม การมีที่ดินเปล่าที่ซื้อเก็บไว้โดยไม่ได้นำมาทำประโยชน์จะต้องเสียภาษีที่ดินใหม่ในจำนวนที่มากกว่าที่ดินที่นำมาทำเกษตรกรรม ดังนั้นการปล่อยที่ดินให้รกร้างจึงจะเป็นการเสียประโยชน์ในด้านการสร้างรายได้และการได้รับการลดหย่อนภาษี

 

 

 

 

 

ภาพโดย r1g00 จาก Pixabay 

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

++++++++++++++++++++

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง