SMD ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งสร้างรายได้ประจำ
SMD ส่งซิกหลังปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ ลุยให้เช่าเครื่องมือแพทย์ ขยายฐานลูกค้ามุ่งสู่การสร้างรายได้ประจำ ตุนแบ็กล็อกในมือ 301 ล้านบาท ฟากผู้บริหารแย้มแผนขยายธุรกิจเครื่องกรองอนุภาค-ศูนย์ตรวจการนอนหลับ อัพยอดเพิ่ม ปักธงดันรายได้แตะ 2.2 พันล้านบาท
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทได้ปรับโหมดธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจากธุรกิจ “เทรดดิ้ง คัมพานี” กระจายไปสู่การมีรายได้ประจำสม่ำเสมอรายเดือน หรือ Recurring Income ในรูปแบบการเช่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ของบริษัทเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่ม
** แบ็กล็อก 301 ล.
สำหรับปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 301 ล้านบาท แบ่งออกเป็น กลุ่มสินค้าเวชบำบัดวิกฤติ (Critical Care) 63%, เวชศาสตร์การนอนหลับ (Respiration Medical Devices) 9%, กลุ่มโรคหัวใจ (Cardiology) 24%, กลุ่ม Smart Hospita 1% เเละกลุ่มทั่วไป 2%
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะมีปัจจัยบวกจาก สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น (Aging Society) ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเป็นโรคยากและซับซ้อน (NCDs) ได้มากกว่าคนอายุน้อย ได้แก่ โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน เป็นต้น ประกอบกับการตรวจสอบสุขภาพการนอนหลับ ซึ่งผู้สูงวัยมีแนวโน้มเข้าตรวจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสินค้าของบริษัท นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ยังส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทอีกด้วย
โดยบริษัทมีแผนเดินหน้าขยายงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจเครื่องกรองอนุภาคทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูง (P2- mobile air sterilization station ) สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ 99.995% ซึ่งที่ผ่านมา 1-2 ปีบริษัทได้จำหน่ายเครื่องไปแล้วมูลค่าราว 120 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่ในสถานพยาบาลชั้นนำเป็นจำนวนมาก
** ทำการตลาดเพิ่ม
เเละในปีนี้บริษัทมีแผนจะทำการตลาดเพิ่มขึ้นเดิมจากการขายเพียงอย่างเดียว ไปยังธุรกิจบริการให้เช่าใช้เพื่อให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นเเละเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปยังโรงพยาบาล และจะขยายไปยัง กลุ่มโรงเรียน โรงแรม สปา ฟิตเนส สถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab) โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ทำสัญญาให้บริการเช่าอุปกรณ์ทดสอบการนอนหลับระยะเวลา 3 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีมูลค่าสัญญาโดยประมาณ 26.9 ล้านบาท ระยะเวลาของสัญญา 3 ปี และในอนาคตบริษัทมีแผนจะขยายอีกจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ
หลังจากนี้น่าจะมีการเซ็นสัญญาจ้างเหมาการให้บริการตรวจการนอนหลับแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดมูลค่าจะใกล้เคียงกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือประมาณ 30 ล้านบาท เร็วๆ นี้ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นธุรกิจเครื่องมือรักษาอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจ รวมถึงการขยายธุรกิจการเช่าซื้อ (Leasing) เพื่อสร้างรายได้ประจำให้แก่กลุ่มธุรกิจ
** ปั๊มรายได้ 2.2 พันล.
ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท จากปีนี้คาดทำได้ 2 พันล้านบาท ตามเป้า โดยการจำหน่ายสินค้า หรือธุรกิจเดิมคาดจะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 1.2-1.4 พันล้านบาท บริษัทจะเดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิมรวมถึงขยายธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มฐานการเติบโต ปัจจุบันบริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งมีกระแสเงินสดที่เพียงพอต่อการขยายการลงทุนใหม่ราว 371 ล้านบาท และมีช่องทางการหาเงินทุนเพิ่มเติม หากต้องการเงินทุนสำหรับขยายกิจการ