รีเซต

วาระแห่งชาติ! โรงไฟฟ้าขยะชุมชนอืด ปัญหาใหญ่ไร้ทางจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

วาระแห่งชาติ! โรงไฟฟ้าขยะชุมชนอืด ปัญหาใหญ่ไร้ทางจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
มติชน
27 สิงหาคม 2564 ( 15:00 )
90

การจัดการขยะ เป็นวาระแห่งชาติมาหลายปีแล้ว หลังจากปริมาณขยะของไทยพุ่ง แต่ไร้ทางจัดการอย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” เพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการขยะอย่างยั่งยืน เป็นนโยบายที่ต้องทำ เพราะหากไม่เอามาปั่นไฟฟ้า ก็ยากจะแก้ปัญหาทั้งขยะเก่าที่คาบ่อ และขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันปีละกว่า 30 ล้านตัน

 

 

 

แต่การจัดการขยะเป็นอำนาจของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้ามารับดำเนินการ จากปกติใครจะปั่นไฟฟ้าต้องมาที่กระทรวงพลังงาน และเพื่อให้การจัดวางภารกิจหน้าที่ชัดเจน ให้วาระแห่งชาติเป็นจริงเป็นจัง ได้มีการออกพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560 ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย วันที่ 16 มกราคม 2560 และมาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ ทำโครงการปั่นไฟฟ้าจากขยะชุมชนทั่วประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งกระทรวงมหาดไทย และหลายหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) , สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

 

 


โครงการนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เข้ามารับดำเนินการเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ ฟีด-อิน-ทารีฟ (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ปั่นไฟไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยสิ่งละอันพันละน้อยเดินไปภายใต้ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายของกระทรวงมหาดไทย

 

 

ปีนั้นทุกอย่างก็ดูราบรื่นสมกับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานมาบูรณาการ และเร่งมือทำให้เกิดผล อะไรที่ต้องทำงานร่วมกันทั้ง กระทรวงมหาดไทยและพลังงาน ก็คุยกันมาตั้งแต่ปี 2561 ส่วนอะไรที่ต้องทำตามภารกิจก็ทำกันไป กระทรวงมหาดไทยก็ไปพิจารณาเอกชนที่มีสิทธิ์ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

ส่วนกกพ. ก็ไปออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP และกกพ.ยังทำงานกับพพ.กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้า ตามแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศ เพื่อนำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า

 


เรื่องนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติสเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ AEDP 2018 อย่างเรียบร้อย

 

 

กระทรวงมหาดไทยกับท้องถิ่นเห็นปัญหาจากขยะอยู่ จึงเร่งพิจารณาเอกชน ที่มีสิทธิ์ปั่นไฟฟ้าจากขยะชุมชนเข้าระบบ และจนมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใต้ “โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รวม 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 234.7 เมกะวัตวัตต์ กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้กระทรวงพลังงานจนถึงตอนนี้ผ่านมา 2 ปี เรื่องยังคาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ไม่เดินหน้าเปล่าแถมถอยหลัง มีการปรับระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ในสาระสำคัญ เรียกว่ามาเริ่มต้นนับ 1 กระทรวงพลังงานยุคนี้ ทำเสมือนกับว่าเมื่อ 2 ปีก่อนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และใส่เกียร์ว่าง ขณะที่โครงการปั่นไฟฟ้าจากขยะชุมชนนำร่อง (Quick Win Projects) 11 โครงการก็ยังเดินหน้ากันอยู่

 


ปัญหาขยะบ้านเราต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.ที่ขยะกองท่วมหัว ช่วงโควิด 19 ระบาดมีขยะเพิ่มขึ้นจากฟู้ด เดลิเวอรี่ รวมถึงวัสดุหีบห่อต่างๆ รวมถึงยังมีขยะประเภทหน้ากาก ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากผู้ติดเชื้อหรือไม่ปะปนเข้ามาในกองขยะชุมชนอีก

 

 

เมื่อ 23 โครงการเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทุกอย่างต้องหยุดรออย่างไร้วี่แวว ประโยชน์ที่ควรเกิดก็เลยไม่เกิด ทั้งการจ้างงาน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แถมความเสียหายก็เพิ่มขึ้นๆ จนเอกชนต้องมีหนังสือสอบถามไปยัง รมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งรัด แต่เรื่องยังเงียบ

 

 


อย่างโครงการที่หนองแขม และอ่อนนุช ซึ่งมีศักยภาพกำจัดขยะของประเทศได้ถึง 1,000 ตันต่อวันต่อโรง และ ปั่นไฟฟ้าป้อนระบบมากที่สุดกว่า 30 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ได้ลงนามสัญญามาเกือบ 2 ปี และโครงการมีการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) เพื่อดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่เสร็จสิ้นเกือบ 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถลงทุนก่อสร้างโครงการได้ตามแผน เนื่องจากยังไม่ได้รับสิทธิจำหน่ายไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน ทำให้มีคำถามว่า ในเมื่อนโยบายการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทำไมกระทรวงพลังงานถึงใส่เกียร์ว่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง