รีเซต

สนค. มั่นใจส่งออกโต 2 หลัก รถยนต์รับบทพระเอก เตือนโควิดอยู่ยาวต้องปรับตัว

สนค. มั่นใจส่งออกโต 2 หลัก รถยนต์รับบทพระเอก เตือนโควิดอยู่ยาวต้องปรับตัว
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 12:11 )
60

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวภายในงานสัมมนา ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย ภายใต้หัวข้อเสวนา เรื่อง “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ ว่า สิ่งสำคัญที่ภาคการส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ ความปลอดภัยภายใต้การระบาดโควิด-19 โดยจะต้องหาวิธีให้แรงงาน และตัวผู้ประกอบการได้รับวัคซีนเร็วที่สุด และมากที่สุด เพื่อให้มีความพร้อม รวมถึงภาคเอกชนจะต้องปรับต้วให้ทันกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมกะเทรนด์หลายเรื่องที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออก อาทิ การเข้ามาของดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ทำให้ทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งผู้ประกอบการเอง และภาครัฐด้วย แต่อยากเน้นย้ำว่า ประเด็นแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เราจะต้องอยู่กับโควิดไปตลอดต้องรักษาความปลอดภัยองค์กรและพนักงานให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ธุรกิจและการส่งออกไทยติดขัด

 

 

“ภาคการส่งออกไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา การส่งออกไทยขยายตัวที่ 20% โดยขอเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย นับตั้งแต่ปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 ซึ่งการส่งออกในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่า มูลค่าการส่งออกไทยปรับขึ้นสูงมากตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนในปี 2563 ไม่ต้องพูดถึง เพราะยอดการส่งออกตกลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิดในระลอกแรก ทำให้มูลค่าการส่งออกของปี 2564 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2562-2563 โดยการส่งออกสินค้าไทยในปี 2564 สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเกือบในทุกรายการ โดยการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก มีสัดส่วน 50% ของการส่งออกทั้งหมด อาทิ รถยนต์ ที่บวกกว่า 53.1% ถือว่าเป็นพระเอกในภาคการส่งออก” นายภูสิต กล่าว

 

 

นายภูสิต กล่าวว่า การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก 2564 ยังเติบโตต่อเนื่องสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชีย ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยไทยจะอยู่กลางๆ เมื่อเทียบกับในอีกหลาย ประเทศ แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ดีกว่าบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ส่วนเป้าหมายและแนวโน้มภาคการส่งออกไทยในปี 2564 โดยการส่งออกไทยที่เริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปลายปี 2563 ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม-กรกฎาคม) โตกว่า 16.2% ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 4 เท่า

 

 

กระทรวงพาณิชย์ ปรับรูปแบบการส่งเสริมการค้าแบบออนไลน์ เพื่อผลักดันการส่งออกไทยอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน โดยใช้กลไกการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ให้ความสำคัญกับรัฐหนุน เอกชนนำ และ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ที่ส่งประโยชน์เชิงบวกให้กับการส่งออกไทยด้วย

 

 

สำหรับแนวโน้มการสินค้าไทยที่เหลือในปี 2564 คาดการณ์ว่า ทิศทางยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงบ้าง คาดว่าทั้งปี 2564 การส่งออกไทย น่าจะยังส่งออกไปได้ดีอยู่ ตัวเลขอยู่ที่ 2 หลัก ตามคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะโตที่ 17.1% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดโต 12% แต่สถานการณ์การระบาดโควิด อาจส่งผลกระทบในไตรมาส 3/2564 โดยเฉพาะโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานอาหารกระป๋อง ผักหรือผลไม้กระป๋อง ที่เจอการระบาดเป็นกลุ่มใหม่ (คลัสเตอร์) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ให้ความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มข้น

 

 

สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 มี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.สินค้าที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน อาทิ เครื่องจักรกล ส่วนประกอบเครื่องจักรกล 2.สินค้าที่เปลี่ยนรูปแบบตามการใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น หรือสินค้าที่ต้องปรับเปลี่ยนนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบต่างๆ เครื่องเล่นวิดีโอ โทรศัพท์ เครื่องซักผ้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้ทันสมัยตลอดเวลา 3.สินค้าในห่วงโซ่กิจกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า

 

 

4.สินค้าที่อยู่ในวัฎจักรของการขยายตัว อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงสามารถขยายตัวมาแ 14 เดือนต่อเนื่องแล้ว เพราะคนในปัจจุบันต้องอยู่บ้านมากขึ้น จึงมีการนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงเป็นเพื่อน ตลาดจึงเติบโตสูงมาก รวมถึงสิ่งปรุงรส อาหารผลไม้ เครื่องเทศสมุนไพร ผัก ผลไม้แปรรูป และ 5.สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุ อะลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งกลุ่มสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มสินค้าที่จะหดตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่สนับสนุนกิจกรรม และการทำงานที่บ้าน หลังจากสามารถเปิดทุกอย่างกลับมาเป็นปกติมากขึ้น มองว่าสินค้าที่จะสนับสนุน อาทิ อาหารสำเร็จรูปอาหารทะเลแช่แข็ง ผัก ผลไม้แปรรูป มีแนวโน้มชะลอตัวลง

 

 

“ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคให้ได้ การพัฒนาศักยภาพของผู้ส่งออกและแรงงานด้วย และมองหาการสร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางการค้าที่ปรับไปจากเดิม อาทิ อีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีโอกาสอีกมาก รวมถึงการศึกษากฎระเบียบในการค้าต่างๆ อีกทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้สามารถไปได้ไกลมากกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องมากระจุกตัวในเมืองแล้ว และกระแสการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ อาทิ สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุ โดยมองว่าปี 2565 สถานการณ์การระบาดโควิดน่าจะเริ่มดีขึ้น วัคซีนเริ่มกระจายได้มากขึ้น แต่มองว่าโควิดยังคงอยู่กับเราต่อไป ทำให้ต้องพยายามปรับตัวและระมัดระวังกันอยู่ โดยภาคการส่งออกยังมีทิศทางการเติบโตได้ต่อ แม้อาจไม่ได้โตสูงๆ เหมือนที่ผ่านมา แต่ยังสามารถเติบโตได้ต่อไปแน่นอน” นายภูสิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง