สงครามแห่งอวกาศ จีน-สหรัฐฯ แข่งทำภารกิจไปดวงจันทร์ ความตึงเครียดครั้งใหม่ที่อยู่นอกโลก
ภารกิจทะยานสู่ดวงจันทร์ของนาซาในครั้งนี้ กลายเป็นก้าวอันน่าตื่นเต้นและจับตามองเป็นอย่างมาก ในการที่จะปูทางส่งมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี
แต่การกลับสู่ดวงจันทร์ครั้งนี้ จะไม่ใช่การส่งมนุษย์ขึ้นไปประทับรอยเท้าบนพื้นผิวดวงจันทร์เท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มของการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่ เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบนดวงจันทร์ ที่มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหม่ ในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศของโลก เมื่อจีนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจ และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมวางแผนส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030 ด้วยจรวดที่พัฒนาขึ้นเองเช่นกัน
---มุ่งสู่สงครามอวกาศ---
เมื่อปี 2018 จีนและสหรัฐฯ ไม่เพียงทำสงครามการค้าเท่านั้น แต่ด้านอวกาศก็กลายเป็นการแข่งขันครั้งใหม่ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน ในเดือนธันวาคม 2018 จีนเปิดตัวหุ่นยนต์ยานอวกาศ ชื่อว่า ‘ฉางเอ๋อ-4’ ซึ่งได้ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อเดือนมกราคม 2019 และปลายปี 2020 จรวด ‘ลอง มาร์ช 5’ ซึ่งได้บรรทุกยาน ‘ฉางเอ๋อ-5’ ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์กลับลงมาสู่โลก
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายที่นาซาได้ตั้งไว้ว่า จะส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 หลังภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1972
องค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศจีน หรือ CASC ก็ได้ประกาศจะทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในปี 2030 โดยผู้ออกแบบจรวดของ CASC กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่จะทำให้ภารกิจสำเร็จคือ การใช้จรวด ‘ลอง มาร์ช 5’ รุ่นปรับปรุง เวอร์ชันใหม่ที่ชื่อว่า ‘CZ-5DY’ ในการลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งจะมีแรงผลัก 2.64 เท่า ของจรวด ‘ลอง มาร์ช 5’ ซึ่งเป็นรุ่นที่จีนใช้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งล่าสุด เพื่อเก็บตัวอย่างดวงจันทร์เมื่อเดือนธันวาคม 2020
---ความตึงเครียดนอกโลก---
การกลับสู่ดวงจันทร์ของมนุษยชาติครั้งนี้ จะไม่ใช่ทำเพียงแค่การสำรวจ และแสวงหาความรู้ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันด้านอวกาศที่คล้ายคลึงกับในยุคสงครามเย็น เมื่อปี 1960 ที่โครงการอวกาศขับเคลื่อนโดยภูมิศาสตร์การเมืองโลก เช่นเดียวกับโครงการอวกาศต่าง ๆ ในปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนที่มาจากภูมิศาสตร์การเมืองโลก
โครงการอาร์เทมิส เป็นโครงการที่นำโดยสหรัฐฯ กับความร่วมมือจากองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA และประเทศพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงออสเตรเลีย
ขณะที่ จีนได้จับมือกับรัสเซีย เพื่อดำเนินโครงการภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของตนเอง โดยพวกเขาวางแผนที่จะส่งมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์ก่อนปี 2030 และสร้างฐานดวงจันทร์ในปี 2035
อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ นอกจากทั้ง 2 ประเทศ ก็ได้ริเริ่มทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ เช่น อินเดียกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ลงจอดบนดวงจันทร์ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ก็วางแผนที่จะเปิดตัวยานลงจอดบนดวงจันทร์ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้เช่นกัน
ภารกิจทั้งหมดนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำมากกว่าแค่การส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่พวกเขากำลังมองไปที่เป้าหมายระยะยาว เพื่อแข่งขันให้ได้ทรัพยากรบนดวงจันทร์มา
---จีนกำลังไล่ตามสหรัฐฯ---
คอลัมนิสต์ด้านอวกาศจีนคนหนึ่ง กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศของจีนยังคงล้าหลังสหรัฐฯ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ช่องว่างดังกล่าวได้แคบลงเรื่อย ๆ จากที่คาดไว้ว่าตามหลังราวครึ่งศตวรรษ เหลือเพียงแค่ไม่กี่ปี
ขณะที่ สื่อทั่วโลกกำลังให้ความสนใจไปที่การเปิดตัวภารกิจ ‘อาร์เทมิส 1’ ของนาซาในสัปดาห์นี้ ด้านสื่อจีนก็กำลังเล่นข่าวการปล่อยจรวดขึ้นสู่ดวงจันทร์ที่วางแผนไว้ในปี 2030
บทความจีนชิ้นหนึ่ง อ้างความเห็นจาก ‘มา หยิง’ นักออกแบบจรวดของ CASC กล่าวว่า จรวดรุ่นใหม่จะสามารถส่งคนจีนไปดวงจันทร์ได้ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นจรวดที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 50 ตัน และขึ้นสู่วงโคจรถ่ายโอนโลก-ดวงจันทร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจสำรวจดวงจันทร์
มา กล่าวต่อไปว่า CASC ยังลงทุนเทคโนโลยีที่จะสามารถนำบูสเตอร์จรวดกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายโครงการอวกาศในอนาคต รวมถึงจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่จรวด
ทั้งนี้ สื่อบางสำนัก รายงานว่า การส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ครั้งแรกของจีน จะประสบความสำเร็จด้วยจรวด ‘ลอง มาร์ช 9’ และคาดว่า จรวด ‘ลอง มาร์ช 9’ จะเริ่มต้นทดสอบภายในปี 2028 หรือ 2029 โดยใช้เครื่องยนต์ใหม่ของจีนอย่าง YF-135 ซึ่งจะมีแรงผลักมากถึง 4 เท่าของเครื่องยนต์ YF-100
The Science and Technology Daily หนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้กล่าวถึงอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าหากจรวด ‘ลอง มาร์ช 9’ ยังไม่พร้อมในภารกิจดวงจันทร์ปี 2030
แหล่งข่าวจาก CASC ที่ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า จีนจะใช้จรวด ‘CZ-5DF’ ซึ่งมีแรงผลัก 2,800 ตัน สามารถบรรทุกน้ำหนัก 70 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก และ 27 ตัน วงโคจรถ่ายโอนโลก-ดวงจันทร์ รวมถึงสามารถบรรทุกแคปซูลอวกาศขนาด 25 ตัน กับผู้คนไปยังดวงจันทร์ได้
จู ซีฉวน รองหัวหน้านักออกแบบ สถาบันวิจัย 702 ของ CASC กล่าวในรายงานว่า นี่จะเป็นภารกิจด้านอวกาศที่ใหญ่สุด ในประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านอวกาศของจีน
---พื้นที่ลงจอดทับซ้อน---
นอกจากการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีอวกาศแล้ว จีนและสหรัฐฯ ยังมีพื้นที่ลงจอดบนดวงจันทร์ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ตรงขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งอาจจะมีการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบนดวงจันทร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เมื่อต้นเดือนกันยายน นาซาได้เปิดเผยจุดลงจอดที่เป็นไปได้ทั้งหมด 13 แห่ง สำหรับภารกิจ 'อาร์เทมิส 3' ซึ่งจะเป็นภารกิจในปลายปี 2025 ขณะที่ จีนได้เปิดเผยจุดลงจอดที่เป็นไปได้ทั้งหมด 10 แห่ง สำหรับยาน 'ฉางเอ๋อ-7' ภายในปี 2024 ผ่านบทความของจีนที่เขียนโดยจาง เหอ ผู้บัญชาการภารกิจดวงจันทร์ยาน 'ฉางเอ๋อ-4'
พื้นที่ลงจอดของทั้ง 2 ภารกิจ อยู่ใกล้เคียงกับหลุมอุกกาบาตเช็คเคิลตัน, ฮาเวิร์ธ และโนบิล ซึ่งอยู่บริเวณทางขั้วโลกใต้ โดยพื้นที่ดังกล่าว มีแสงสว่างที่เพียงพอ และอยู่ใกล้กับหลุมอุกกาบาตที่มีเงามืด ซึ่งสามารถอาจดักจับน้ำแข็งบนดวงจันทร์
---ทรัพยากรบนดวงจันทร์---
น้ำแข็งบนดวงจันทร์ถูกพบบนพื้นที่ทางตอนใต้ของดวงจันทร์ ถูกคาดหวังว่า บริเวณดังกล่าวจะมีก๊าซที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ จะช่วยรองรับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในระยะยาว ที่ใกล้กับฐานดวงจันทร์ เช่นเดียวกับสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ อย่าง ‘เกตเวย์’ ที่นาซาได้วางแผนจะสร้างไว้
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด สิ่งที่เราจะเรียนรู้บนดวงจันทร์จะถูกนำไปใช้กับในภารกิจดาวอังคาร แต่ในระยะอันใกล้ ประเทศและหน่วยงานทางการค้าที่เกี่ยวข้อง ที่เข้าถึงแหล่งขุดที่ดีที่สุดก่อน จะสามารถครอบงำเศรษฐกิจ และการเมืองทางดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้
ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นความตึงเครียดทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการแข่งขันทำภารกิจเดินทางไปยังดวงจันทร์
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Getty Images, Reuters
ข้อมูลอ้างอิง:
https://asiatimes.com/2022/09/us-china-in-a-heated-tit-for-tat-moon-race/
https://theconversation.com/the-artemis-i-mission-marks-the-start-of-a-new-space-race-to-mine-the-moon-189536
https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-11169181/Space-wars-NASA-China-eyeing-landing-sites-near-moons-south-pole.html