เปิดประวัติ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
เปิดประวัติ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ณ จังหวัดสงขลา เป็นบุตรชายคนโตของดาบตำรวจไสว หักพาล และ นางสุมิตรา หักพาล ได้สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา พานิชพงศ์ นายตำรวจ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐประศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47 และเป็นประธานรุ่นอีกด้วย
การศึกษา
ด้วยครอบครัวเป็นตำรวจตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จึงมีความคิดมุ่งมั่นว่า "ในการเกิดเป็นลูกผู้ชายนั้นสิ่งสูงสุดของชีวิตคือการได้รับใช้ชาติและ ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน" จึงได้สอบเข้าเป็น
นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ ๓๑ ได้รับการจารึกชื่อ ในแผ่นป้ายทองให้เป็นนักเรียนเตรียมทหารที่มี ความประพฤติและการกีพายอดเยี่ยมประจำปี การศึกษา ๒๕๓๒
ในขณะศึกษายังได้เป็นประธานนักกีฬาเทนนิสโรงเรียนเตรียมทหาร และได้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันด้วยการนำทีมเทนนิสชนะเลิศกีฬา ๔ เหล่าทัพ, และกีฬา กองทัพไทยในปีเดียวกัน ด้วยความเป็นคนขยัน หมั่นเพียรและมุ่งมั่นพัฒนาตนเองจึงได้สอบ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหาร งานยุติธรรม (สศ.ม.) ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอก (Ph.D.) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
-หลักสูตร Behavioral Science Unit FBI National Academy
-หลักสูตร Gangs Developmental Issuse & Criminal Behavior FBI National Academy
-หลักสูตร Overview Of Forensic Science FBI National Academy
-หลักสูตร Cooperation In Combating Transnational Crime สถาบัน FBI National Academy Associates
การศึกษาต่างประเทศ
- หลักสูตร FBI NA SESSION 225 ณ สถาบันเอฟบีไอ เมืองควอนติโก
- หลักสูตร Criminal Justice Coucation University Of Virginia FBI National Academy
- หลักสูตร Crime Scene Investigations Course FBI National Academy
- หลักสูตร Personnel And Facility Security Course FBI National Academy
- หลักสูตร Evidentiary Photography Course FBI National Academy
- หลักสูตร Educational Leadership FBI National Academy
ทั้งนี้ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ยังได้เข้ารับ การศึกษาในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรโรงเรียน เสนาธิการทหาร รุ่น ๕๑ กองบัญชาการกองทัพไทย, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐ และกฎหมายมหาชน รุ่นที่ ๑o สถาบันพระปกเกล้า (ปรม. ๑๐), หลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่น ๓๙ วิทยาลัยการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บตส. ๓๙), หลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ ๒๐
(บ.ย.ส.) จากสถาบันพัฒนาข้าราชการ ฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบัน วิทยาลัยตลาดทุน รุ่นที่ ๒๓
เริ่มต้นรับราชการตำรวจ
ร.ต.ต. สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นนั้น เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
ระดับผู้กำกับการ
หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 จึงได้เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ถูกส่งไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น พื้นที่สีแดง เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้
ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ
ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจตรี ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น หลังจากนั้นทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557
จนในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจโท และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
คำสั่งย้าย
ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย จนวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยื่นหนังสือลากิจเพื่อขอบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 9 วัน และกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2563
การกลับมาเป็นข้าราชการตำรวจ
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติเห็นชอบให้รับโอนมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สบ.9) เทียบเท่าผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.พ.ศ. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จำนวน 273 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นลำดับที่ 169 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล เลื่อนจาก ที่ปรึกษา (สบ 9) สตช. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติใน วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ได้ลงพื้นที่พร้อมกับ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ พลตำรวจโท สำราญ นวลมา เพื่อตรวจสอบเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565
ที่มา กองบัญชาการกองทัพไทย / wikipedia
แฟ้มภาพ TNN ช่อง 16