รีเซต

โควิด-19 : โอไมครอน และเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ คืออะไร วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหม

โควิด-19 : โอไมครอน และเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ คืออะไร วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหม
ข่าวสด
27 พฤศจิกายน 2564 ( 22:55 )
214
โควิด-19 : โอไมครอน และเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ คืออะไร วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหม

 

BBCไทย - "โอไมครอน" เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่กลายพันธุ์อย่างรุนแรงและองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ "น่ากังวล"

คำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่งตอนนี้คือวัคซีนที่เรามีอยู่จะยังใช้ได้ผลอยู่ไหม

 

เชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้คืออะไร

 

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าว แรกเริ่มมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่ WHO จะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน เจ้าหน้าที่พบการระบาดในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

 

ในโลกมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์หลายพันสายพันธุ์แพร่ระบาดอยู่ นั่นเป็นเรื่องปกติเพราะไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ และเชื้อ Sars-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ก็ไม่มีข้อยกเว้น

 

เราเรียกเชื้อไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนี้ว่า "เชื้อกลายพันธุ์" องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อคุณสมบัติของเชื้อไวรัส และมักค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา

 

Getty Images

แต่นาน ๆ ครั้ง เชื้อไวรัสอาจโชคดีที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะที่ช่วยให้มันอยู่รอดและเพิ่มจำนวนขึ้นได้

อย่างไรก็ดี โควิดชนิดใหม่นี้น่ากังวลเป็นพิเศษเพราะมีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ

 

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

 

วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหม

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวัคซีนที่มีอยู่อาจจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ไม่ดีเท่าเดิม

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันไม่ได้เลย เพราะอย่าลืมว่าวัคซีนที่มีก็สามารถช่วยให้คนไม่ล้มป่วยหนักจากโควิดสายพันธุ์หลักอื่น ๆ อย่างเดลตา อัลฟา เบตา และแกมมา

 

แพทย์แนะนำให้คนไปฉีดวัคซีนให้ครบโดสตามที่แนะนำเพื่อทำให้สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างสหราชอาณาจักร แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นแต่จำนวนผู้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ยังต่ำกว่าตอนโควิดระบาดระลอกแรก ๆ มาก

 

ต่อจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จะทำการทดลองดูว่าวัคซีนจะใช้ได้ผลกับโควิดกลายพันธุ์นี้แค่ไหน

ตอนนี้ยังเร็วไปกว่าที่จะสรุปอะไรแต่การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

 

ส่วนการกลายพันธุ์ในอีกหลายสิบตำแหน่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นมาก่อนนั้น ยังคงต้องรอการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการอีกนานหลายสัปดาห์ จึงจะสามารถบอกได้ว่ายีนเหล่านั้นมีผลทำให้เชื้อโควิดดังกล่าวมีฤทธิ์ร้ายแรง เหนือกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่เคยพบมาก่อนหรือไม่

 

เราจะได้วัคซีนจัดการเชื้อกลายพันธุ์นี้เมื่อไหร่

 

Getty Images

ตอนนี้ได้เริ่มมีการพัฒนาและทดสอบวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ แล้วเผื่อว่าวันหนึ่งต้องใช้ขึ้นมา

เมื่อวันนั้นมาถึง วัคซีนตัวใหม่อาจพร้อมนำไปใช้ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังการทดลอง ผู้ผลิตวัคซีนก็สามารถเร่งผลิตวัคซีนให้เร็วขึ้น และหน่วยงานด้านยาก็ได้เริ่มพูดคุยแล้วว่าจะเร่งกระบวนการอนุมัติอย่างไร

แน่นอนว่าจะไม่มีทางลัดสำหรับขั้นตอนทั้งหมด แต่เราอาจได้วัคซีนตัวใหม่เร็วกว่ารอบแรก

 

เชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ เชื้อกลายพันธุ์ที่ "น่ากังวล" ได้แก่

  • อัลฟา (Alpha) ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
  • เบตา (Beta) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
  • แกมมา (Gamma) ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • เดลตา (Delta) ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

WHO ตัดสินใจใช้ระบบเรียกชื่อของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ตามอักษรกรีก แทนความนิยมของคนทั่วไปและสื่อที่เรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยชื่อประเทศหรือสถานที่เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิงถึง รวมทั้งลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่มาจากประเทศที่ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้เป็นแห่งแรก

 

ความร้ายแรงของสายพันธุ์เดลตา

ก่อนหน้านี้ เดลตา เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะพบว่าเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

ประการแรก เดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ราว 60% แม้ว่าอัลฟามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50%

นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือน เม.ย. และ พ.ค. อีกทั้งยังกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในสหราชอาณาจักร และยังพบว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ได้แพร่เข้าไปในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้วทั้งในสหรัฐฯ จีน แอฟริกา แถบสแกนดิเนเวีย และภูมิภาคในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในประเทศไทย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเตือนเมื่อ 28 มิ.ย. ว่า ภายใน 3 เดือนนี้ มีโอกาสที่แซงสายพันธุ์เดลตาจะแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา

ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิดมีแนวโน้มจะล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาถึง 2 เท่า

 

เชื้อกลายพันธุ์น่ากังวลแค่ไหน

ไม่มีหลักฐานว่าเชื้อกลายพันธุ์ทำให้คนส่วนใหญ่ล้มป่วยหนักกว่าเดิม ก็เหมือนกับเชื้อโควิดสายพันธุ์แรก คนที่เสี่ยงมากที่สุดคือคนสูงวัยและคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม มันก็จะทำให้มีผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียชีวิตได้

วัคซีนช่วยลดโอกาสป่วยหนักจากโควิดได้ รวมถึงพวกเชื้อที่กลายพันธุ์ด้วย วัคซีนทำให้คนเสี่ยงติดโควิดน้อยลง แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้หมดความเสี่ยงไปโดยสิ้นเชิงได้

คำแนะนำในการรับมือสำหรับโควิดทุกสายพันธุ์ก็คือให้ล้างมือ รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยในที่แออัด และหมั่นทำให้ในห้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

 

ทำไมเชื้อกลายพันธุ์เรื่อย ๆ

เชื้อไวรัสที่ผลิตสร้างตัวเองขึ้นซ้ำ ๆ แต่บางทีกระบวนการที่ผิดพลาดไม่สมบูรณ์แบบไปเปลี่ยนพันธุกรรมตัวเองทำให้เกิดเป็นเชื้อไวรัสแบบใหม่หรือที่กลายพันธุ์นั่นเอง

หากกระบวนนั้นช่วยให้ไวรัสดังกล่าวอยู่รอดได้ เชื้อกลายพันธุ์ก็จะแพร่ระบาดมากขึ้น

ยิ่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีโอกาสผลิตตัวเองขึ้นซ้ำ ๆ ในร่างกายมนุษย์มากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การพยายามทำให้มีคนติดเชื้อน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยวัคซีนจะคอยช่วยลดการติดเชื้อและก็ป้องกันไม่ให้คนล้มป่วยหนัก

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อกลายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 อาจะเกิดขึ้นในคนไข้หนึ่งคนที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และให้เวลากับไวรัสตัวนั้นในการกลายพันธุ์

.......

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง