รีเซต

เตือน! พบโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ "XDD" แพร่ระบาดเหนือกว่า EG.5.1

เตือน! พบโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ "XDD" แพร่ระบาดเหนือกว่า EG.5.1
TNN ช่อง16
8 ธันวาคม 2566 ( 13:15 )
70

ศูนย์จีโนมฯ เตือนระวังโควิด-19 พบสายพันธุ์ลูกผสมใหม่ “โอมิครอน XDD” เติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก เอริส (EG.5.1) เบื้องต้นยังไม่พบในไทย


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิด-19 โดยระบุว่า พบสายพันธุ์ลูกผสมใหม่ “โอมิครอน XDD” (EG.5.1.1*/JN.1*) เกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างโอมิครอน HK.3 (สายพันธุ์ลูกหลานของเอริส: EG.5.1) และโอมิครอน JN.1 (ลูกหลานของพิโรลา: BA.2.86) 


จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่า XDD มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรปและในสหรัฐ อเมริกายังไม่พบ XDD ในประเทศไทย โดย XDD มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก เอริส (EG.5.1) ที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ถึง  163% หรือ 2.63 เท่า

ไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องโดยมักจะมีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนส่วนหนามเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือจากการฉีดวัคซีน
ไวรัสลูกผสม (hybrid) เป็นกระบวนการผสมและจับคู่ของไวรัสเพื่อเร่งความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้เกิดเร็วขึ้น กว่าการกลายพันธุ์ของแต่ละสายพันธุ์ไปอย่างปรกติ เมื่อไวรัสสองตัวที่ต่างสายพันธุ์กันติดเชื้อในเซลล์เดียวกัน พวกมันจะสามารถสลับส่วนของยีนเพื่อสร้างไวรัสลูกผสมตัวใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะ จากทั้งไวรัสพ่อและแม่หรือบางครั้งอาจมีลักษณะใหม่ที่ทั้งพ่อและแม่เดิมไม่มี


ล่าสุดนักวิชาการอิสสระ โจเซต ชเวนเมเกอร์ (Josette Schoenmakers) ชาวเนเธอร์แลนด์รายงานการพบโอมิครอน 2 สายพันธุ์ย่อยคือ HK.3 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน “เอริส(EG.5.1)” และ JN.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน “พิโรลา(BA.2.86)” เกิดการผนวกควบรวมสายจีโนมเข้าด้วยกัน (recombination) เกิดเป็นลูกผสมสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่ถูกเรียกว่า “XDD”
ลูกผสม HK.3/JN.1, หรือ XDD มีจุดเชื่อมต่อกัน 2 จุด, จุดที่หนึ่งระหว่างนิวคลีโอไทด์ตำแหน่งที่ 6541 - 7842


จุดที่สองตำแหน่งที่ 25416 – 26270 โอมิครอนลูกผสม XDD ได้รับยีนสร้างโปรตีนหนามทั้งหมดมาจาก JN.1 โดยมียีน ORF9b, truncated ORF8, และยีนสร้างโปรตีนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับใช้สร้างส่วนหนาม (non-Spike structural proteins) จากโอมิครอน HK.3


ทำให้โอมิครอนลูกผสม XDD มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า สายพันธุ์หลัก เอริส (EG.5.1) ที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ถึง 163% หรือ 2.63 เท่า ในขณะที่ไม่พบความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสายตระกูล BA.2.86 และ JN.1 คือเพียงประมาณ 17% หรือ 1.17 เท่า เท่านั้น


คำว่า XDD เป็นส่วนหนึ่งของระบบการตั้งชื่อสำหรับไวรัสลูกผสมเหล่านี้ ระบบเริ่มต้นด้วย X ตามด้วยตัวอักษรตามลำดับ (เช่น XA, XB, XC, XD เป็นต้น) ตัวเลขจะใช้ก็ต่อเมื่อมีการสืบทอดที่ชัดเจน (เช่น XB.1)


ลูกผสมที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตคือ โอมิครอน XBB, เดลตาครอน-XBC, และล่าสุดคือ เอริส (Eris) x พิโรลา (Pirola) เกิดเป็นโอมิครอนลูกผสม XDD HK.3 ลูกหลานของ “อีริส” พบบ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกาในช่วงฤดูร้อนปี 2566 โดยมีการเปลี่ยนแปลงพิเศษบริเวณโปรตีนส่วนหนามเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและยึดเกาะกับเซลล์ได้ดีขึ้น


JN.1 รุ่นลูกของ “พิโรลา” เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่พบในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐ อเมริกา โดยมีความโดดเด่นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในโปรตีนส่วนหนามไปมากกว่า 30 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับโอมิครอน XBB.1.5


สิ่งที่ควรตระหนักแต่ไม่ต้องตระหนกคือกระบวนการผสมและจับคู่นี้เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส ไวรัสลูกผสม XDD ขณะนี้ได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโลก “จีเสส(GISAID)” จำนวน 40 รายจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ


ฝรั่งเศส ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้สำเร็จ 14 ราย เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์อื่นพบระบาดภายในประเทศ 0.067%


สเปน
8
0.047%


สหรัฐ
4
0.003%


สวีเดน
2
0.023%


สวิตเซอร์แลนด์
2
0.096%


ออสเตรีย
1
0.039%


เดนมาร์ก
1
0.018%


เยอรมนี
1
0.025%


เนเธอร์แลนด์
1
0.029%


โปแลนด์
1
0.145%


ประเทศอังกฤษ
1
0.004%


ยังไม่พบในประเทศไทย


ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลจากห้องปฏิบัติการและจากผู้ติดเชื้อมากนักว่าโอมิครอน XDD หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและยึดเกาะกับผิวเซลล์ได้ดีกว่าทั้ง“เอริส(EG.5.1)” และ “พิโรลา(BA.2.86)” หรือไม่ รวมทั้งก่อให้มีการติดเชื้อรุนแรงแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญหรือเปล่า

หมายเหตุ
สายวิวัฒนาการของโอมิครอน:
รุ่นแรก (ตรวจพบเมื่อปี 2564)
สายพันธุ์: BA.1
ลักษณะเด่น: เป็นสายย่อยแรกที่ถูกตรวจพบของโอไมครอน


รุ่นที่สอง (ตรวจพบเมื่อปี 2565-2566)
สายพันธุ์: BA.2, BA.3, BA.4, BA.5, BA.2.86
ลักษณะเด่น: เกิดจาก BA.1, โดยที่แต่ละสายย่อยมีการกลายพันธุ์ 'เฉพาะตัว' เพิ่มเติม 10-30 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับไวรัสต้นตระกูลที่รู้จักใกล้ที่สุด


รุ่นแห่งอนาคต (ตรวจพบปี 2566-2567)
สายพันธุ์: XBB.1.9.2 (EG.5.1), XBB.1.22.1 (FY.3), XBB.1.16.1 (FU.1), XBB.1.9.2 (EG.2), XBB.1.9.2 (EG.5), XBB.1.18.1 (FE.1.1), XBB.1.9.1 (FL.2.2), XBB.1.22.1 (FY.2), BA.2.75.3 (FK.1), BA.2.75.5 (FR.1), BA.2.75.3 (DV.5), XDD (EG.5.1.1*/JN.1*)
https://github.com/sars.../lineage-proposals/issues/1024...
https://public.tableau.com/.../TrackingBA_2.../BA_2_86
SARS-CoV-2 evolution in the Omicron era
Nature Microbiology volume 8, pages1952–1959 (2023)
https://www.nature.com/articles/s41564-023-01504-w





ภาพจาก รอยเตอร์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง